กรุงเทพฯ 15 กุมภาพันธ์ 2559– นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมร่วมกับ นายอะคิมาสะ ยามาชิตะ (Mr. Akimasa Yamashita) รองผู้ว่าราชการจังหวัดเกียวโต พร้อมคณะผู้ประกอบการจากจังหวัดเกียวโต พร้อมหารือร่วมกัน ในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน อาทิ จังหวัดเกียวโตอยู่ระหว่างการจัดเตรียมงาน Kyoto Smart City Expo 2016 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 มิถุนายน 2559 ดำเนินการใน 3 แนวคิด ได้แก่ Smart Technology, Smart Healthcare และ Smart Agriculture พร้อมเตรียม พิจารณาผู้ประกอบการ SMEs ไทย ที่ดำเนินธุรกิจหรือมีงานวิจัยหรือนวัตกรรมที่สอดคล้องกับทั้ง 3 แนวคิดข้างต้น เข้าร่วมงานทั้งในการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) หรือออกร้านจำหน่ายสินค้า นอกจากนี้ยังขอให้ กรมฯเป็นตัวกลางประสานงานกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานรัฐที่มีงานวิจัย หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถนำมาจัดแสดงหรือเสนอในงานดังกล่าวได้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางนวัตกรรมและงานวิจัยร่วมกัน และอาจก่อให้เกิดการต่อยอดในการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูงอื่น ๆ ต่อไปอนาคต
นายประสงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เนื่องจากจังหวัดเกียวโตมีสภาพอากาศไม่เหมาะสมในการปลูกหม่อนเลี้ยง จึงมีอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมไหม ทางจังหวัดเกียวโตจึงมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมไหมร่วมกับประเทศไทย โดยตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหรรมไหมของทั้ง 2 ประเทศ ให้สามารถขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การแพทย์และอาหาร นอกเหนือจากแค่อุตสาหรกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพียงอย่างเดียว โดยผู้ประกอบการจากจังหวัดเกียวโต เห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการไทย เพราะไทยมีรากฐานการผลิตไหมที่เข้มแข็ง มีชื่อเสียงด้านการเลี้ยงไหม และผ้าไหมไทยมีคุณภาพดี มีความแวววาวที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษ และได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยหวังว่าหากประเทศไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและจังหวัดเกียวโตร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว น่าจะก่อให้เกิดการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5
ตามที่รัฐบาลได้วางเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรม SMEs ของไทย ให้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตของเทคโนโลยีขั้นสูง การที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน พึ่งพาซึ่งกันและกัน ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งจังหวัดเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เป็นจังหวัดที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมชั้นสูง เช่น เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ พลังงานทดแทน หุ่นยนต์ และอุตสาหรกรรมสิ่งทอและเคมีภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหรกรรมที่มีนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม หรือ S-Curve ซึ่งเป็นโอกาสดีที่อุตสาหกรรมในประเทศไทยจะได้เรียนรู้นวัตกรรมชั้นสูงจากญี่ปุ่นเพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศต่อไป นายประสงค์ กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สามารถสอบถามได้ที่ โทร.0 2202 4426-7 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น