กรุงเทพฯ – 23 กุมภาพันธ์ 2559 – กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าเร่งขยายโรงงานยางอย่างต่อเนื่องขานรับนโยบายรัฐบาลที่เร่งส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้นเพื่อการช่วยเหลือชาวเกษตรกรยาง โดยกรมโรงงานฯ อนุญาตให้โรงงานที่ขอใบอนุญาตขยายโรงงานแล้วจำนวน80 โรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดดำเนินกิจการแล้ว 7 โรงงาน และในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เตรียมเปิดดำเนินกิจการอีก 9 โรงงาน คาดว่าจะมีการใช้วัตถุดิบยางเพื่อการผลิตจำนวน 33,425 ตัน พร้อมกันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเสนอครม.เสนอจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วนที่มีศักยภาพด้านการทดสอบแบบครบวงจรและรับรองผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นการดึงดูดให้บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย และสร้างแรงจูงใจผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้วขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยางล้อไทยมีมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมยางล้อทั้งระบบจำนวน 8 หมื่นล้านบาท โดยอุตสาหกรรมยางมีการส่งออกอุตสาหกรรมยางขั้นกลางประมาณ 87% ส่วนอีก 13 % ใช้ในอุตสาหกรรมยางขั้นปลายภายในประเทศ จากที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมนำยางพาราไปแปรรูปให้มากที่สุดเพื่อแก้ปัญหายางพาราอย่างยั่งยืนทั้งการเพิ่มความต้องการใช้ยาง เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้นทุกรูปแบบ พร้อมเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมยางล้อยานยนต์ หากสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูปให้หลากหลายมากขึ้นและส่งออกได้ เช่น ยางล้อยานยนต์ จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศพร้อมเพิ่มมูลค่าสินค้า อีกทั้งยังแก้ไขปัญหาราคายางได้อย่างยั่งยืน และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า กรมโรงงานฯ มีการสนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องยางพาราพร้อมมีมาตรการที่จะช่วยให้มีการรับซื้อ สต๊อกยางและมีการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยการเร่งรัดขยายโรงงานยางที่มีความพร้อมและขอใบอนุญาตประกอบกิจการได้ในปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้จำนวน 80 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังในการรับซื้อยางและเพิ่มปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ยางมากขึ้น ล่าสุด มีโรงงานยางที่เปิดดำเนินการไปแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จำนวน 5 โรงงาน (มีปริมาณการใช้น้ำยางสด 1,100 ตันต่อปี ยางก้อนถ้วย 10,000 ตันต่อปี ยางแท่ง 10,010 ตันต่อปี และยางแผ่น 100 ตันต่อปี) ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ได้เปิดดำเนินการไปแล้วอีกจำนวน 2 โรงงาน (ปริมาณการใช้น้ำยางสด 1,565 ตันต่อปี) และเตรียมจะเปิดดำเนินการอีกจำนวน 9 โรงงาน (มีปริมาณการใช้น้ำยางสด 10,650 ตันต่อปี) ซึ่งการขยายโรงงานทั้ง 16 โรงงาน จะมีการใช้วัตถุดิบยางเพื่อการผลิตประมาณ33,425 ตัน สำหรับอีก 64 โรงงาน ยังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งในปีนี้หากโรงงานยางมีการขยายและเปิดกิจการครบทั้ง 80 แห่ง จะทำให้มีการใช้ยางดิบ 8.7 แสนตัน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการโรงงานมีปัญหาติดขัดในการขยายโรงงาน กรมโรงงานฯ มีทีมคณะทำงานติดตามเร่งรัดและให้คำปรึกษาแนะนำโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมยางขั้นกลางและขั้นปลาย จะคอยให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการประสานงานในทุกๆ เรื่อง ที่ผู้ประกอบการไม่สามารถแจ้งเริ่มประกอบกิจการได้ โดยทีมคณะทำงานฯ จะช่วยเหลือเพื่อผลักดันให้โรงงานประกอบกิจการได้โดยเร็วขึ้น
ขณะนี้รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งแก้ปัญหายางพาราโดยการเพิ่มความต้องการใช้ยางและสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ เช่น ล้อยาง ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่ายาง ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมยางล้อ โดยรัฐบาลกำลังเร่งส่งเสริมให้สร้างโรงงานผลิตยางล้อที่ทันสมัย และสร้างศูนย์ทดสอบคุณภาพยางล้อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นว่าการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ยางให้ได้มาตรฐานสากล โดยจะดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วน เนื่องจากศูนย์ทดสอบมีศักยภาพด้านการทดสอบแบบครบวงจรและรับรองผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นการดึงดูดให้บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย และสร้างแรงจูงใจผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้วขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น และที่สำคัญจะช่วยแก้ไขปัญหายางพารา ส่งผลให้เกิดการใช้วัตถุดิบยางมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อซึ่งมีความต้องการใช้ยางอย่างมาก ทำให้เพิ่มปริมาณการใช้ยางเพื่อนำมาแปรรูปมากขึ้น โดยศูนย์ทดสอบฯ ดังกล่าวจะดำเนินการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 การทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยางล้อประเภทอื่น และการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งศูนย์ทดสอบฯ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเตรียมเสนอเข้าครม. เพื่อขออนุมัติในเดือนมีนาคมนี้ ดร.พสุ กล่าว
ด้าน ดร.เกียรติชัย ลิมปิโชติพงษ์ ประธานกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทโอตานิ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทโอตานิ เริ่มต้นอุตสาหกรรมการผลิตยางล้อมากว่า 30 ปี ภายใต้แบรนด์โอตานิ ประกอบด้วย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ยางโอตานิ จำกัดและบริษัท โอตานิ เรเดียล จำกัด บนพื้นที่รวม 400 ไร่ และเงินลงทุนรวม 12,000 ล้านบาท กลุ่มบริษัทโอตานิเริ่มจากการผลิตยางประเภทโครงผ้าใบเฉียง สำหรับรถที่ใช้ในเกษตรกรรม รถบรรทุก รถโดยสาร รถอุตสาหกรรม ยางรถที่ใช้นอกผิวถนน และยางตันรถยก ในปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตยางรถเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ASEAN และส่งยางให้กับโรงประกอบรถชั้นนำ เช่น Volvo, Kubota, Yanmar, สามมิตรมอเตอร์ เป็นต้น ในปี 2553 บริษัทเริ่มดำเนินการผลิตยางเรเดียลสำหรับรถบรรทุก และรถโดยสาร ปัจจุบันกลุ่มบริษัทโอตานิ ใช้ยางธรรมชาติรวมทั้งสิ้น 22,000 ตันต่อปี ในปี 2559 บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตทำให้ปริมาณการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 36,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เพิ่มสายการผลิตยางเรเดียลรถยนต์นั่ง โดยในระยะ 3 ปีแรกหรือ Phase 1 จะเริ่มการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2559 และภายในปี 2562 จะมีกำลังการผลิต 6,000,000 เส้นต่อปี มีความต้องการใช้ยางธรรมชาติ 20,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะเริ่มการผลิต Phase 2 ภายในปี 2563 สำหรับกำลังการผลิตอีก 6,000,000 เส้น โดยจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตยางสำหรับรถยนต์นั่งรวม 12,000,000 เส้นต่อปี คาดว่าในปี 2564 บริษัทจะมีความต้องการใช้ยางธรรมชาติกว่า 76,000 ตันต่อปี
ดร.เกียรติชัย กล่าวต่อว่า เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทางกลุ่มโอตานิได้ลงทุนใน “ศูนย์วิจัยและทดสอบยางล้อโอตานิ” ใช้ในการศึกษาวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนทดสอบยางล้อโอตานิทุกประเภท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางล้อ ภายใต้ชื่อ “OTANI” ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดในระดับนานาชาติ มูลค่าการลงทุนกว่า 300 ล้านบาท สำหรับเครื่องมือที่ใช้ภายในศูนย์วิจัยฯ ได้แก่ เครื่องทดสอบการต้านทานแรงหมุน (Rolling Resistance Testing Machine) เครื่องทดสอบความคงทนของยาง (Endurance Testing Machine) เครื่องทดสอบความคงทนของยางที่ความเร็วสูง (High Speed Endurance Testing Machine) เครื่องทดสอบแรงกระแทกหน้ายาง (Plunger Testing Machine) เครื่องทดสอบการยึดเกาะระหว่างขอบยางกับกระทะล้อ (Bead Seating Testing Machine) เครื่องทดสอบพื้นผิวสัมผัสของหน้ายาง (Tread Foot Print Testing Machine) และเครื่องทดสอบความคงทนของยางต่อโอโซน (Tire Ozone Resistance Testing Machine) ปัจจุบันเครื่องทดสอบความคงทนของยาง และเครื่องทดสอบความคงทนของยางที่ความเร็วสูงอยู่ระหว่างการทดสอบเครื่อง สำหรับเครื่องทดสอบอื่นๆ กำลังดำเนินการติดตั้งและคาดว่าจะใช้ทดสอบได้ในเดือนเมษายน 2559 เป็นต้นไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น