กระทรวงอุตสาหกรรม//การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดย สถาบันอาหาร สภาหอการค้าฯ และ สภาอุตสาหกรรมฯ เผยข้อมูลส่งออกอาหารปี 2558 มูลค่า 897,529 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับปี 2557 คาดปี 2559 มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นเป็น 950,000ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 5.8 ชี้ ไก่ ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้ง เครื่องปรุงรส และสับปะรดกระป๋อง มีแนวโน้มเติบโตดี สินค้ากลุ่มผลไม้สด เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำผักผลไม้ กะทิสำเร็จรูป นมพร้อมดื่ม บิสกิต/แวฟเฟิล/เวเฟอร์ จะขยายตัวแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนและ CLMV แนะหนุนอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานอย่างจริงจัง พบมีสัดส่วนส่งออกสูงถึงร้อยละ 49 เมื่อเทียบกับอาหารสด/วัตถุดิบ/อาหารแปรรูปเบื้องต้น เตรียมยกระดับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปใหม่ๆ สู่ตลาด
การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรื่อง สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2558 และคาดการณ์แนวโน้มส่งออกปี 2559 มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันอาหาร นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสัตวแพทย์บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมให้รายละเอียดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center โดยพบว่าภาพรวมการค้าอาหารไทยปี 2558 (ไม่รวมอาหารสัตว์) การส่งออกมีมูลค่า 897,529 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับปี 2557 ส่วนการนำเข้าอาหารมีมูลค่า 356,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 ทั้งนี้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่าลดลง เช่นเดียวกับประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ราคาสินค้าตกต่ำ รวมถึงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีการแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลของประเทศต่างๆ ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นตามกลุ่มวัตถุดิบจำพวกอาหารทะเล เพราะวัตถุดิบในประเทศลดลง
สินค้าอาหารส่งออกในจำนวนสินค้าหลัก 8 รายการมีสัดส่วนส่งออกรวมกันร้อยละ 60.1 โดยมีข้าวเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 1 สัดส่วนร้อยละ 17.4 ของมูลค่าอาหารส่งออกรวมในปี 2558 รองลงมาได้แก่ น้ำตาลทราย (10.0%), ไก่ (9.8%), ปลาทูน่ากระป๋อง (7.5%), กุ้ง (6.4%), แป้งมันสำปะหลัง (แป้งดิบ) (4.6%), เครื่องปรุงรส (2.2%) และสับปะรดกระป๋อง (2.1%)
“สำหรับสินค้าในกลุ่มอื่นๆ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมด พบว่ามีหลายสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออก หากได้รับการสนับสนุนและผลักดันการส่งออกอย่างจริงจัง ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการวิจัย
และพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับมาตรฐานคุณภาพและการผลิตให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา(2555-2558) หลายสินค้ามีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดจากการมีตลาดหลักอยู่ในประเทศอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV อาทิ เช่น ผลไม้สด ขยายตัวร้อยละ 15 เครื่องดื่มชูกำลัง ขยายตัวร้อยละ 20 น้ำผักผลไม้ ขยายตัวร้อยละ 17 กะทิสำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 19 นมพร้อมดื่มขยายตัวร้อยละ 24 และบิสกิต แวฟเฟิล เวเฟอร์ ขยายตัวร้อยละ 34 เป็นต้น”
ในจำนวนสินค้าหลัก 8 รายการพบว่า มี 4 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทราย (+2.5%), ไก่ (+9.6%), แป้งมันสำปะหลัง (+0.2%), เครื่องปรุงรส (+3.8%) และสับปะรดกระป๋อง(+17.5%) ขณะที่มีสินค้า 3 รายการที่มูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว (-10.8%), ปลาทูน่ากระป๋อง (-11.8%) และกุ้ง (-10.6%)
สำหรับการส่งออกข้าวไทยลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศผู้ซื้อที่มีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมัน ประกอบกับตลาดข้าวโลกมีการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวลดลง โดยไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลก ที่ปริมาณ 9.8 ล้านตัน รองจากอินเดียที่ส่งออกข้าวได้ 10.23 ล้านตัน ส่วนเวียดนามเป็นอันดับที่ 3 มีปริมาณส่งออก 6.6 ล้านตัน ส่วนปลาทูน่ากระป๋อง การส่งออกลดลงมากในเชิงมูลค่าตามทิศทางราคาวัตถุดิบทูน่าที่อ่อนตัวลงตามราคาน้ำมัน ส่งผลทำให้สินค้าสำเร็จรูปมีราคาอ่อนตัวตามไปด้วย สำหรับ กุ้ง แม้ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่มูลค่าส่งออกลดลงมากตามทิศทางราคาส่งออกที่มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตกุ้งโลกสูงขึ้นจากการขยายการกำลังการผลิตกุ้งในประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย รวมทั้งผลผลิตกุ้งไทยมีขนาดเล็กลง เนื่องจากเกษตรกรต้องเร่งจับกุ้งขายเร็วขึ้น เพราะยังเกรงปัญหาโรคตายด่วน
ทั้งนี้ ตลาดอาหารส่งออกอันดับ 1 ของไทยอยู่ในอาเซียน โดยมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 25.8 รองลงมาได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ร้อยละ 14.0, สหรัฐฯ ร้อยละ 11.3, สหภาพยุโรป ร้อยละ 10.6, แอฟริกา ร้อยละ 9.8 และจีน ร้อยละ 8.6 ส่วนตลาดในตะวันออกกลาง โอเชียเนีย อเมริกาใต้ และอินเดีย มีสัดส่วนส่งออกค่อนข้างน้อย
นายยงวุฒิ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 950,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ นโยบายการเปิดตลาดใหม่ของภาครัฐ เช่น ตะวันออกกลาง, แผนงานและโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ “10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย : กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)”, เศรษฐกิจที่ขยายตัวจากการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ส่งผลทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น และสินค้าอาหารไทยได้รับความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย ส่วนปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภัยแล้งทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบของอุตสาหกรรมแปรรูป, ภัยสงคราม ความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ(MENA) อาจส่งผลให้คู่ค้ามีปัญหาในการชำระเงินค่าสินค้า, เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่มีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันรวมทั้งสินค้าเกษตร, ปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย (Tier 3) และการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) อาจกระทบต่อสินค้าในหมวดอื่นๆ ของไทยในอนาคต, การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ เช่น การลดค่าเงินหยวนของจีน การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่น และราคาน้ำมันลดลงส่งผลทำให้ราคาสินค้าเกษตรอาหารลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้สินค้าส่งออกหลักจำนวน 8 สินค้า คาดว่าจะมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 58 ของสินค้าอาหารส่งออกทั้งหมด จำแนกเป็น ข้าว ร้อยละ 15.8 ปริมาณ 9 ล้านตัน มูลค่า 150,500 ล้านบาท , ไก่ ร้อยละ 9.5 ปริมาณ 7.2 แสนตัน มูลค่า 90,600 ล้านบาท, น้ำตาลทราย ร้อยละ 9.5 ปริมาณ 7.5 ล้านตัน มูลค่า 90,200 ล้านบาท, ปลาทูน่ากระป๋อง ร้อยละ 7.8 ปริมาณ 6.2 แสนตัน มูลค่า 74,166 ล้านบาท , กุ้ง ร้อยละ 6.7 ปริมาณ 1.9 แสนตัน มูลค่า 63,200 ล้านบาท, แป้งมันสำปะหลัง ร้อยละ 4.3 ปริมาณ 2.90 ล้านตัน มูลค่า 40,600 ล้านบาท, เครื่องปรุงรส ร้อยละ 2.3 ปริมาณ 3.2 แสนตัน มูลค่า 21,700 ล้านบาทและสับปะรดกระป๋อง ร้อยละ 2.1 ปริมาณ 5.4 ล้านตัน มูลค่า 20,220 ล้านบาท
กลุ่มสินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าได้แก่ ไก่ จะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 3 จากตลาดญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ซึ่งเป็นตลาดใหม่ ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง โดยต้องพิจารณาปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ราคาวัตถุดิบทูน่าแช่แข็ง ซึ่งมีต้นทุนมากกว่าร้อยละ 50 ของการผลิต โดยจะอิงกับราคาเชื้อเพลิงเป็นหลัก กุ้งเนื่องจากประเทศคู่แข่งหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินเดีย กำลังประสบปัญหาโรคระบาด จึงเป็นโอกาสของไทยในการดึงส่วนแบ่งตลาดที่เสียไปกลับคืนมา เครื่องปรุงรส เนื่องจากเป็นสินค้าคุณภาพดีและมีเอกลักษณ์ และมีตลาดกระจายอยู่ทั่วโลกโดยไม่ได้พึ่งพิงตลาดหนึ่งตลาดใดในสัดส่วนที่มากเกินไป สำหรับสับปะรดกระป๋อง คาดว่าปริมาณจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5
กลุ่มสินค้าที่คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ข้าว คาดว่าจะมีปริมาณส่งออก 9 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับปี 58 เนื่องจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังของไทยลดลง ทำให้ผู้ส่งออกขาดแคลนข้าวใหม่ในการส่งออก ในขณะที่ฝั่งผู้ซื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาในแถบแอฟริกาก็ยังประสบภาวะเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อชะลอตัว ประกอบกับตลาดข้าวอันดับหนึ่งของไทย คือไนจีเรียตั้งกำแพงภาษีนำเข้าข้าวสูงถึงร้อยละ 60 รวมทั้งมีมาตรการเข้มงวดในการนำเงินดอลลาร์ออกนอกประเทศ ทำให้ผู้ซื้อขาดแคลนดอลลาร์ในการชำระค่าข้าว ตลาดข้าวในแอฟริกาโดยเฉพาะไนจีเรียจึงชะลอตัวต่อไป ส่วนน้ำตาลทราย ปริมาณลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.2 เนื่องจากภัยแล้งทำให้พื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยลดลง และยังทำให้ระดับความหวานของอ้อยมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพน้ำตาลที่จะผลิตได้ สำหรับแป้งมันสำปะหลัง ประสบปัญหาวัตถุดิบมีไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงาน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมีการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านมาแปรรูปมากขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศกัมพูชาคาดว่าปริมาณจะลดลงร้อยละ 1.0
“ในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา(2541-2558) รูปแบบสินค้าอาหารส่งออกของไทยมีแนวโน้มพัฒนาไปสู่การเป็นสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมากขึ้น โดยในปี 2541 สัดส่วนส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมีเพียงร้อยละ 35 อีกร้อยละ 65 เป็นการส่งออกอาหารสด/วัตถุดิบ/แปรรูปเบื้องต้น แต่ปัจจุบันอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมีสัดส่วนส่งออกสูงถึงร้อยละ 49 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมด มีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยในการมองหาโอกาสใหม่ โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรแปรรูป พัฒนาสู่อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานเพื่อทดแทนการส่งออกอาหารแบบดั้งเดิมที่นับวันจะมีการแข่งขันสูงขึ้น”
………………………………………………………………………………
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น