ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

กรมโรงงานฯ ผนึก สวทช. ตรวจสอบโรงงานทั่วประเทศนำงานวิจัยช่วยแก้ปัญหา เตรียมอัดฉีดสูงสุดรายละ 4 แสนบาท

• พร้อมเปิดตัวโครงการ ก้าวกระโดดประเทศไทย เพื่อพัฒนาไปสู่ศูนย์วิจัยระดับอาเซียน

กรุงเทพฯ – 5 กุมภาพันธ์ 2559 กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกระดับอุตสาหกรรมไทยอย่างก้าวกระโดด ด้วยการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เรื่อง "ก้าวกระโดดประเทศไทย (Thailand Spring Up) ยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มมูลค่าของกากอุตสาหกรรมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม" มุ่งเน้นนำโจทย์ความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมมาสู่การทำวิจัย สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม สร้างโอกาสของการเข้าถึงของอุตสาหกรรมในบริการของรัฐ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในการยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และพลังงานให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้า 2 ปีแรก จะส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการโรงงานอย่างน้อย 100 ราย  พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายละไม่เกิน 400,000 บาท คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนให้ภาคอุตสาหกรรมไทย 7.5 เท่าของการลงทุน



นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนออุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ต่อรัฐบาล ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านอุตสาหกรรมของประเทศนั้น การจะยกระดับสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้จะต้องเน้นการวางรากฐานทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในปี 2557 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมูลค่า GDP เป็นอันดับที่ 32 ของโลก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญโดยช่วยสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมถึงร้อยละ 34 ส่งผลให้มีมูลค่า GDP ภาคอุตสาหกรรมอยู่ในอันดับที่ 30 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน+3 จัดอยู่ในประเภทที่มีขีดความสามารถ แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงผลิตเพื่อการส่งออก และยังคงพึ่งพิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้ขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมของไทยไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงนำโจทย์ความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมมาสู่การทำวิจัย แล้วสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผนึกกำลังกับ สวทช. โดยการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "ก้าวกระโดดประเทศไทย (Thailand Spring Up) ยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มมูลค่าของกากอุตสาหกรรมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม" พร้อมดันไทยสู่ศูนย์กลางวิจัยและพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมของอาเซียน ซึ่งยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และสร้างโอกาสการเข้าถึงของอุตสาหกรรมในบริการของรัฐ ตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต


ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งกับ SMEs เพื่อให้เป็นแกนหลักเศรษฐกิจของประเทศในการก้าวข้ามกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ซึ่งเมื่อกล่าวถึง SMEs โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ความสนใจเบื้องต้นจะเป็นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) ผลิตภาพ (Productivity) และผลิตผล (Product) ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะมีบทบาทในการรับ SMEs ต่อจากการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตขั้นพื้นฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้ SMEs ได้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต มีการปรับปรุงและเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ทำให้ SMEs มีต้นทุนการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ และมีการสร้างนวัตกรรมจากฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ SMEs แบบก้าวกระโดด ส่งออกได้มากขึ้น สามารถแข่งขันได้ในระดับอาเซียนและระดับโลก และก้าวมาเป็นแกนหลักที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลต่อการจ้างแรงงาน การกระจายรายได้สู่ภูมิภาค และชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น

"เมื่อกล่าวถึงการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้คือ ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม สังคมและชุมชนใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็น เสียง กลิ่น ควัน น้ำเสีย และอื่นๆ หากมีการจัดการที่ไม่เหมาะสม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของประเทศ ทั้งด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถช่วยลดหรือแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ ยังอาจช่วยให้ SMEs สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ หากมีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น การนำพลังงานความร้อนที่สูญเสียกลับมาใช้ใหม่ การออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสม การลดการใช้สารเคมี หรือการนำกากของเสียมาใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่า ผลที่ได้รับนอกจากจะเกิดต่อ SMEs แล้วยังส่งผลที่ดีต่อสังคมและชุมชนใกล้เคียงด้วย สำหรับความร่วมมือในวันนี้นับเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะช่วยนำการสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งด้านกำลังคน และองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหรือบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย พลังงาน และการจัดการกากของเสีย เพื่อช่วยเสริมภารกิจของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในการสนับสนุนให้ SMEs โดยเฉพาะภาคการผลิตที่มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ให้เติบโตโดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นับเป็นโอกาสอันดีที่สองกระทรวงผนึกกำลังร่วมสร้างอุตสาหกรรมสีเขียว ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ SMEs ไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป" ดร.านิช กล่าวสรุป


ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบัน กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายที่ต้องการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยกระดับการบริหารจัดการ ให้มุ่งเน้นบทบาทในการเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงเป็นที่มาของการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนาให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการบูรณาการด้วยการยกระดับการตรวจโรงงาน ซึ่งในการตรวจสอบโรงงานนี้ กรมโรงงานฯ จะร่วมกับนักวิชาการของ สวทช. เมื่อพบปัญหาในการประกอบกิจการของแต่ละรายแล้ว จะนำปัญหามาวิจัยและพัฒนาต่อยอดให้โรงงานและให้ความรู้แก่อุตสาหกรรมรายอื่นๆ ต่อไป โดยโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องการให้กรมโรงงานฯ ช่วยแก้ไขปัญหาจะได้รับการสนับสนุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานรายละไม่เกิน 400,000 บาท ซึ่งเป็นภารกิจของกรมโรงงานฯ ในการดำเนินการเชิงสร้างสรรค์และส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม หรือ "วทน." ในกระบวนการผลิต ทั้งนี้จะได้รับความร่วมมือผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไทย (Industrial Technology Assistance Program: ITAP) ของ สวทช. ที่ให้บริการภาคอุตสาหกรรมในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งยกระดับเทคโนโลยีการผลิต  จึงนับเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญครั้งหนึ่งของประเทศไทย ในการยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย พลังงาน และกากอุตสาหกรรมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม

"การร่วมมือครั้งนี้ กรมโรงงานฯ จะผลักดันให้เพิ่มการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนา หรือปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมทั้งกระบวนการกำจัดกากของเสีย โดยสนับสนุนให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนาร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยผ่านกลไกทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำ การบริหารการผลิต ปรับปรุงกระบวนการผลิต และวิเคราะห์ทดสอบ รวมถึงการอบรมสัมมนาและการจัดหาทรัพยากรสนับสนุนที่จำเป็น ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อแข่งขันกับระดับสากลต่อไป โดยในส่วนของ สวทช.จะให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีความพร้อมและความมุ่งมั่นตั้งใจเข้าร่วมโครงการสำหรับส่งเสริมการพัฒนา โดยตั้งเป้าใน 2 ปี จะมีผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 100 ราย คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ภาคอุตสาหกรรมไทย 7.5 เท่าจากการลงทุน"  ดร.พสุ กล่าวสรุป

ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่สนใจ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :โทร. 66-(02)-202-4000 และ 3967 โทรสาร 66-(02)-354-3390 หรือ สำนักโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 1 - 5 หรือสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ที่รับผิดชอบกำกับดูแลการดำเนินการตามประเภทโรงงานหรือกลุ่มอุตสาหกรรมของท่าน และ www.diw.go.th





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

กระทรวงอุตฯ เร่งปูพรมพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้ SMEs /OTOP ทั่วประเทศ ตลอดมีนาคมนี้

กรุงเทพฯ  1  มีนาคม  2559 -  กระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบายรัฐบาลเร่งเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยออกมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือ  SMEs  และ  OTOP  ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการกว่า 800 ราย ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตลอดเดือนมีนาคมนี้ ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ตาก ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินให้กับผู้ประกอบการได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการส่งเสริม  SMEs  และ  OTOP  ของประเทศ เนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะภาครัฐที่ดูแลและส่งเสริมผู้ประกอบการ  SMEs  และ  OTOP  โดยตรง จึงมีโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการในหลายด้าน ทั้งให้ความรู้การทำธุรกิจรอบด้าน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเปิดตลาดในพื้นที่ต่าง ๆ การให้ความช่วยเหลือมาตรการด้านการเงิน และการให้ความรู้ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำก...

ด่วน!!! สถาบันอาหาร รับสมัครเอสเอ็มอีดูงานที่ญี่ปุ่น-จับคู่ธุรกิจในงานFoodex Japan 2016

สถาบันอาหาร   กระทรวงอุตสาหกรรม  เชิญชวน เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน ที่ประกอบ ธุรกิจแ ละอุตสาหกรรมอาหารทุกประเภท เข้าร่วม กิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรม ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น   ระหว่างวันที่  6-12  มีนาคม  2559  เพื่อ สำรวจตลาด   และพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าอาหารของชาวญี่ปุ่น   ศึกษาวัฒนธรรมการบริโภค   แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น   พร้อมศึกษานวัตกรรมอาหาร  แนวโน้มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ  ในงาน  Foodex Japan 2016   ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าด้านอาหาร และเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย  มีผู้แสดงสินค้า  3,000  ราย  จาก  79   ประเทศ   และมีผู้เข้าชมงานราว  77,000  คน   จัดขึ้นเพื่อเจรจาธุรกิจเท่านั้น ไม่มีการจำหน่ายปลีก   โดยผู้ประกอบการ ของไทย สามารถนำสินค้ามาร่วมจัดแสดง พร้อมพบปะและเจรจาธุรกิจ  Business Matching  กับผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากทั่วโลก พร้อมสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่สนใ จ นำเข้าผลิตภัณฑ์อาห า รของไทย ...

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศผนึกกำลังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดใหญ่ Bangkok RHVAC และ Bangkok E&E 2017 ชูศักยภาพไทยในฐานะผู้ผลิตชั้นนำของโลก

นางมาลี โชคลํ้าเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงการจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานแสดงสินค้าเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (Bangkok RHVAC) และงานแสดงสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Bangkok E&E) ปี 2560 ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมเครื่องทำความเย็นไทย เมื่อเร็วๆ นี้ว่า คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ได้หารือและมีความเห็นร่วมกันว่าจะใช้การจัดงานแสดงสินค้าในครั้งนี้เป็นเวทีแสดงศักยภาพของทั้งสองอุตสาหกรรมของไทย ทั้งในด้านคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐานระดับสากล และในด้านนวัตกรรมสินค้าที่สอดรับกับบริบทโลกในปัจจุบัน      “ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกในกลุ่มสินค้าดังกล่าว โดยปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกในการผลิตและส่งออก ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ซึ่งใช้ในระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ในการจัดเก็บข้อมูล โดยเฉพาะจากโซเชียลเน็ตเวิร์กซึ่งมีขนาดของข้อมูลจากผู้ใช้ทั่วโลกขยายใหญ่ขึ้นมากทุกปี นอกจาก...