พลตำรวจเอก สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดโครงการ "ยุติการทิ้งเด็ก” ภายใต้แนวคิด ๓ ไม่ (ไม่เสียชีวิต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ทำลายโอกาส) พร้อมทั้งร่วมกิจกรรมการเดินรณรงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ "ยุติการทิ้งเด็ก” โดยมีผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เข้าร่วมงาน ณ ศูนย์การค้า Siam Square One ลานเชื่อม BTS เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
พลตำรวจเอก สุวัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งเป็นอย่างยิ่ง โดยพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้มอบหมายให้เป็นนโยบายสำคัญของการดำเนินงานทุกกรมในสังกัดของกระทรวงฯ และเน้นย้ำให้มีการดำเนินงานเชิง บูรณาการทั้งด้านป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง โดยมีการจัดทำร่างยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมบทบาทครอบครัวและชุมชนในการสร้างสัมพันธภาพและสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น โดยผ่านการดำเนินงานโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักด้านเด็กและเยาวชน ได้ดำเนินงานโครงการกิจกรรมต่าง ๆ มาโดยตลอด ทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของปัญหา การทอดทิ้งเด็กในสังคม อย่างไรก็ตามปัญหาและสถานการณ์เด็กถูกทอดทิ้งในสังคมยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูล เด็กถูกทอดทิ้งที่ถูกส่งไปเข้ารับการอุปการะในสถานสงเคราะห์เด็กในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทั้ง ๘ แห่ง ในระหว่าง ปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๘ มีจำนวน ๖๖๒ คน ซึ่งยังไม่ได้รวมสถิติเด็กที่ถูกทอดทิ้งแล้วเสียชีวิตจากที่สาธารณะต่าง ๆ
พลตำรวจเอก สุวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จึงจัดโครงการ "ยุติการทิ้งเด็ก” ภายใต้แนวคิด "๓ไม่” คือ "ไม่เสียชีวิต” หมายถึง เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาสิทธิเด็ก "ไม่ผิดกฎหมาย” หมายถึง การทอดทิ้งเด็กเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ และกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๖ และ ๓๐๗ "ไม่ทำลายโอกาส” หมายถึง การทอดทิ้งเด็กทำให้เด็กสูญเสียโอกาสต่าง ๆ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ร่วมมือกันสอดส่องดูแลบุตรหลานของท่านโดยเฉพาะที่ยังอยู่ในวัยรุ่น ให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับค่านิยมที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร อันนำไปสู่ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม
การทำแท้ง และการทิ้งเด็กในที่สุด
พลตำรวจเอก สุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนเด็กถูกทอดทิ้งในสังคม และรณรงค์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจในการแก้ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งให้ประชาชนและกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การเสวนาในหัวข้อ "รักเป็น คิดเป็น ยุติการทิ้งเด็ก” ซึ่งร่วมเสวนาโดย นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และศิลปินวัยรุ่น นิทรรศการ แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์เด็กถูกทอดทิ้งในสังคม การดำเนินงานของกระทรวงฯ เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง (Road Map) และข้อมูลการให้ความช่วยเหลือกรณีประชาชนประสบปัญหาและช่องทางการเข้าถึงบริการของกระทรวง ฯ รวมทั้งมีการเดินรณรงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ "ยุติการทิ้งเด็ก” นอกจากนี้ ในระหว่างเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ จะดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการฯ ผ่านสื่อสาธารณะต่างๆ เพื่อประชาชนได้ตระหนักและรับรู้ถึงข้อมูลดังกล่าวต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น