สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยปี 2558 มูลค่าส่งออกอาหารของไทยไปเมียนมาร์ ยอดพุ่ง เติบโตสูงถึงร้อยละ 23.90 เมื่อเทียบจากปีก่อน ก้าวขึ้นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 รองจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน และยังขึ้นแท่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ในตลาดอาเซียน ด้วยมูลค่า 39,229.82 ล้านบาท คาดปี 2559 แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจเมียนมาร์จะขยายตัวดีราวร้อยละ 8.39 ล่าสุดนำ เอสเอ็มอีอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยเปิดตลาดแนะนำสินค้าและเจรจาธุรกิจในงาน Myanmar International Franchise & SME Expo 2016 ณ เมืองย่างกุ้ง พร้อมสำรวจพฤติกรรมการบริโภคชาวเมียนมาร์ พบคุ้นเคยอาหารไทยดี นิยมอาหารประเภทเส้น ชอบวิธีการผัดมากกว่าการต้ม ไม่ติดหวาน เน้นรสเค็ม และไม่นิยมใช้กะทิในการประกอบอาหาร
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่า ในปี 2558 การส่งออกอาหารของไทยไปประเทศเมียนมาร์ มีมูลค่า 39,229.82ล้านบาท มีอัตราเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 23.90 ปัจจุบันเมียนมาร์เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 4 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.35 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองจากญี่ปุ่น ร้อยละ 13.5 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 11.4 และ จีน ร้อยละ 8.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ เมียนมาร์ยังเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 16.95 จากมูลค่าส่งออกตลาดอาเซียนทั้งหมด 231,433.17 ล้านบาท สินค้าส่งออกอันดับ 1 คือ น้ำตาลทราย คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 21 รองลงมาคือเครื่องดื่มให้พลังงาน, เบียร์, วิสกี้, ครีมเทียม, อาหารทางการแพทย์, กาแฟสำเร็จรูป, น้ำมันปาล์ม และขนมปังกรอบ
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของ IMF พบว่าในปี 2559 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาร์จะขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่ถือว่าอยู่ในระดับสูง คือ ร้อยละ 8.397 ซึ่งยังคงเป็นแนวโน้มที่ผู้ประกอบการของไทยควรให้ความสนใจ ถือเป็นโอกาสในการเข้าไปรุกตลาดเมียนมาร์ โดย Euromonitor ประเมินว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของมูลค่าตลาดอาหารแปรรูปในเมียนมาร์ในช่วงปี 2557- 2561จะมีอัตราถึงร้อยละ 15 ต่อปี ขณะที่สินค้ากลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยในช่วงเดียวกันนี้ถึงร้อยละ 23 ต่อปี
“โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันอาหารได้นำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยจำนวน 20 ราย เข้าร่วมงาน Myanmar International Franchise & SME Expo 2016 ณ เมืองย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ นำผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปไปจัดแสดงและเจรจาธุรกิจ อาทิ ไข่มดแดงกระป๋อง, เห็ดเผาะกระป๋อง, ซาลาเปาลาวา, หมี่โคราชกึ่งสำเร็จรูป, ชาสมุนไพร, เครื่องดื่มเม็ดแมงลักกลิ่นผลไม้, เครื่องดื่มน้ำส้มแขก และกล้วยน้ำว้าอบแห้ง เป็นต้น เพื่อเปิดตลาดเมียนมาร์ ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้ในตราสินค้า และเกิดการเจรจาซื้อขายจากผู้จัดจำหน่ายสินค้าอาหารในเมียนมาร์ได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเมียนมาร์ นอกจากนี้สถาบันอาหารได้ร่วมแสดงอัตลักษณ์อาหารไทยด้วยการสาธิตการปรุงอาหารด้วยการใช้เครื่องปรุงรสสำเร็จรูปต่างๆ เช่น น้ำซอสผัดไทย ผงปรุงรสลาบ น้ำตก ขนมจีนอบแห้งและน้ำยาสำเร็จรูป แกงไตปลาสำเร็จรูป ซึ่งจากการทำแบบสอบถามกับผู้เข้าร่วมงานจำนวน 100 คน ทำให้ทราบว่าชาวพม่ารู้จักอาหารไทยเป็นอย่างดี เนื่องจากคุ้นเคยกับรสชาติอาหาร เพราะมีอาหารไทยหลายอย่างที่มีรสชาติใกล้เคียงกับของ เมียนมาร์ โดยนิยมบริโภคอาหารประเภทเส้น ชอบวิธีการผัดมากกว่าการต้ม ไม่ติดหวาน เน้นรสเค็ม และไม่นิยมใช้กะทิในการประกอบอาหาร”
อย่างไรก็ตามในการจัดแสดงสินค้าครั้งนี้มีจำนวนผู้ประกอบการเข้าร่วมงานรวม 80 บริษัท เป็นบริษัทภายในประเทศเมียนมาร์ 48 บริษัทหรือร้อยละ 60 จากต่างประเทศ 32 บริษัท หรือร้อยละ 40 ประกอบด้วย ไทย สิงคโปร์ อินเดีย ฮ่องกง และอินโดนีเซีย ประเภทสินค้าที่จัดแสดงและสินค้าที่มีศักยภาพ
ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป, น้ำปรุงรส, ผลไม้แปรรูป, แฟรนไชส์ขนาดเล็ก, เครื่องสำอางค์ และสินค้าเพื่อสุขภาพ มีจำนวนผู้เข้าชมงาน 3,758 คนประเมินว่าจากการเจรจาธุรกิจในภาพรวมของงาน คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการซื้อขายภายใน 1 ปี รวม 16 ล้านเหรียญสหรัฐ
…………………………………………………………
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น