ประเทศไทยทุกวันนี้ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรผู้มีความรู้ความชำนาญในทักษะวิชาชีพยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ นอกจากปัญหาทางด้านปริมาณผู้เรียนไม่เพียงพอแล้ว ทัศนคติของสังคมทีมีต่อผู้เรียนอาชีวะ ยังส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้เรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองในการส่งลูกหลานมาเรียนอีกเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานหลักของประเทศไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมจึงไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ จึงได้ผนึกกำลังร่วมกันยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา นำโดยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน 13 องค์กรเอกชนชั้นนำระดับประเทศ และภาคประชาสังคม ฟอร์มทีมจัดตั้งคณะทำงาน “สานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา”ขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
การลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือสานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา (Competitive Workforce)” จึงได้เกิดขึ้นเพื่อเดินหน้าพัฒนาอาชีวศึกษาให้มีความเป็นเลิศในแต่ละด้าน ตลอดจนยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษาให้มีความสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ กล่าวถึงการขับเคลื่อนภาระกิจในครั้งนี้ว่า การทำงานของคณะทำงานฯ มีภารกิจหลัก 5 ประการ คือ การสร้างค่านิยมหรือแรงจูงใจให้เยาวชนหันมาเรียนในสายอาชีวะมากขึ้น การผลิตผู้เรียนอาชีวะในสาขาที่ขาดแคลนให้มีปริมาณเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ การสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนอาชีวะ การสร้างอาชีวะให้มีความเป็นเลิศในแต่ละด้าน ตลอดจนการทำให้อาชีวะมีความเป็นสากลและความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น
“บทบาทของภาครัฐในการขับเคลื่อน จะทำหน้าที่ในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อมูลสถิติ การกำหนดและประเมินมาตรฐานฝีมือแรงงาน การสนับสนุนด้านนโยบายรวมถึงปรับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์เพื่อเกื้อหนุนภาคเอกชนในการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้คณะกรรมการได้กำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงานอย่างชัดเจน รวมถึงมีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะ โดยตั้งเป้าให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลา 2 ปี และเมื่อครบกำหนดทุกฝ่ายจะร่วมประเมินผลการทำงานและพิจารณา เพื่อนำไปขยายผลให้เกิดความต่อเนื่อง และส่งผลสู่การขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไป” พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน ได้กล่าวถึงความร่วมมือในการขับเคลื่อนในส่วนของภาคเอกชนว่า การขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษาในส่วนของภาคเอกชนมีบริษัทชั้นนำระดับประเทศที่เข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 13 องค์กรซึ่งประกอบด้วย เอสซีจี บจก.การบินกรุงเทพ บมจ.ช.การช่าง บจก. ซัมมิท โอโต บอดี อินดัสตรี บมจ. ซีพี ออลล์ บมจ. ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย บจก.น้ำตาลมิตรผล บจก. ฤทธา บจก. สรรพสินค้าเซ็นทรัล บมจ.ไออาร์พีซี บมจ. ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล และ บจก. ฮอนด้า ออโตโมบิล
“สำหรับแนวทางการในการขับเคลื่อนด้านการยกระดับวิชาชีพฯ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก (Quick Win) ซึ่งใช้เวลา 6 เดือน ในการดำเนินภาระกิจ 3 ด้าน ได้แก่ 1. Re-branding สร้างแรงจูงใจผ่านภาพลักษณ์ที่ดีกับกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นตัวเยาวชน หรือผู้ปกครอง ทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมกันนี้จะต้องสร้างความภาคภูมิใจให้กับบุคลากรสายวิชาชีพอีกด้วย 2. สร้าง Excellence Model Schools โดยพิจารณาสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ มีรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม สามารถเป็นพี่เลี้ยงสถานศึกษา รวมทั้งการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม 3. ร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูล (Database) ทั้งในส่วนอุปสงค์ความต้องการแรงงานวิชาชีพ และอุปทานของแรงงานวิชาชีพที่เรียนจบมาในภาพรวมของทั้งประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวของธรุกิจ”
“ในส่วนระยะที่สองคือ Medium & Long term คณะทำงานมีแผนกำหนดมาตรฐานทักษะวิชาชีพ การเรียนการสอน การจ้างงาน ค่าตอบแทน ฯลฯ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือ พร้อมแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมการยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา และส่งเสริมการยกระดับคุณภาพให้ยั่งยืน เช่น บรรจุการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพเข้าไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงผลักดันให้มีหน่วยงานที่รวบรวม Database ของวิชาชีพอาชีวศึกษาให้เป็นรูปธรรม ตลอดจนพัฒนาหลักสูตร ครูผู้สอน โดยให้มีสถาบันพัฒนาครูระดับอาชีวศึกษา” นายรุ่งโรจน์ กล่าวเพิ่มเติม
น.ส.ศุภิสรา กระแสงนพคุณ อายุ 18 ปี นักศึกษาชั้นปวช. 3 สาขาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมละออ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับขับเคลื่อนครั้งใหญ่ของคณะทำงานฯ ในครั้งนี้ว่า การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือที่จริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือเป็นเรื่องที่ดีมาก นักศึกษาจะได้ฝึกงาน ฝึกฝนทักษะฝีมือและเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจริงจากสถานประกอบการส่วนสถานประกอบการเอง ก็มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือเป็นจำนวนมาก หากนักศึกษามีความรู้ความสามารถ และมีวินัย ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ก็ย่อมมีโอกาสได้บรรจุเป็นพนักงานของสถานประกอบการนั้นๆ
“อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอนที่มีความทันสมัย อย่างเช่น หนูเรียนเกี่ยวกับเรื่องอาหาร ก็อยากให้มีการจัดโซนห้องครัวเย็นกับห้องครัวร้อนค่ะ นอกจากนี้อยากให้สังคมมองภาพลักษณ์ของนักเรียนอาชีวะไปในทางที่ดี เพราะปัจจุบันสังคมจะมองว่าอาชีวะต้องแย่ ต้องโดดเรียน แต่จริงๆ แล้วคนที่ตั้งใจเรียนจริงๆ ก็มีเยอะ หนูดีใจที่มีโครงการนี้เห็นความสำคัญของอาชีวศึกษา เพราะจะช่วยให้สังคมมองพวกเราและการเรียนอาชีวะในมุมมองที่ดีขึ้นค่ะ” น.ส.ศุภิสรา กล่าว
นายเศรษฐพล สายทอง อายุ 18 ปี นักศึกษาชั้นปวช. 3 สาขาวิชาการโรงแรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมละออ เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยได้เข้าไปฝึกงานว่า “ผมได้เข้าไปฝึกงานกับโรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งทำให้ผมได้เรียนรู้ในเรื่องของการปรับตัวในเรื่องงาน ส่วนที่เราไม่เคยสัมผัสโดยตรงรวมทั้งการเผชิญหน้ากับแขกแบบตัวต่อตัว ทำให้เราสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี ซึ่งการที่หน่วยงานต่างๆ ร่วมมือกันอย่างนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับนักเรียนมากที่สุดครับ เพราะจะทำให้นักเรียนได้มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยมากขึ้น”
การผนึกกำลังและความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้งภาครัฐ องค์กรเอกชนชั้นนำระดับประเทศ และภาคประชาสังคม จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษาให้ก้าวไกล และเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยะประเทศ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น