กระทรวงแรงงานร่วมสสส. หนุนภาคเอกชนขับเคลื่อน“พลังคนพิการ: หุ้นส่วนธุรกิจสร้างสรรค์สังคม” (Declaration of Welcome Disability) นำร่องในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย
กระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และWorkability Thailand ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคธุรกิจและการศึกษาชั้นนำริเริ่มโครงการประกาศเจตนารมณ์หลักการ “พลังคนพิการ: หุ้นส่วนธุรกิจสร้างสรรค์สังคม” (Declaration of Welcome Disability) เพื่อรณรงค์การสร้างเจตคติและความตระหนักรู้เชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการในฐานะพลเมืองของสังคมที่มีความสามารถสร้างสรรค์คุณค่าต่อสังคม เป็นการสร้างโอกาสให้คนพิการเป็นพลังและหุ้นส่วนทางสังคม ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล “คนไทยทุกคนต้องมีงานทำ” ที่หมายรวมถึงคนพิการและผู้ด้อยโอกาสด้วย โดยการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชนในการสนับสนุนโอกาสในการมีงานทำ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพคนพิการ ทัศนคติและการปรับจัดสถานประกอบการให้พร้อมสำหรับการทำงานของคนพิการในสถานประกอบการตลอดจนการส่งเสริมการซื้อขายสินค้าบริการเพื่อสร้างงานและรายได้แก่กลุ่มคนพิการอีกทางหนึ่ง นอกจากการรณรงค์จนเกิดทัศนคติและวัฒนธรรมที่เปิดรับ ยกย่อง และชื่นชมศักยภาพของคนพิการในประเทศไทยแล้ว Workability Thailand มุ่งต่อยอดการใช้ตราสัญลักษณ์ในการรับรองสินค้าและผลิตภัณฑ์จากคนพิการที่ผ่านการคัดเลือกและผ่านมาตรฐานทัดเทียมกับสินค้าบริการในตลาดเศรษฐกิจ หวังตลาดผู้ซื้อตรง (B2B) จากการสนับสนุนและร่วมมือกับภาคเอกชน ภายใต้แบรนด์ Welcome Disability Mark หรือ Well-D Mark โดยได้รับการรับรองจาก Workability Asia ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายส่งเสริมความสามารถในการทำงานของคนพิการในภูมิภาคเอเซีย
“พลังคนพิการ: หุ้นส่วนธุรกิจสร้างสรรค์สังคม”(The Memorandum of the Public Private Partnership towards Deceleration of Welcome Disability) นำโดยพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นสักขีพยาน พร้อมกับนายนคร ศิลปอาชาปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการแถลงความร่วมมือร่วมกับกลุ่มสภา/สมาคมธุรกิจชั้นนำ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสมาคมสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย โดยมีความมุ่งหมายที่จะรณรงค์การปลูกฝังนโยบายของการยอมรับความแตกต่างและความเท่าเทียม การไม่กีดกันคนพิการภายในองค์กร และการขยายสู่การดูแลลูกค้าและสังคมภายนอกอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นับเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์อันดีและร่วมรณรงค์สังคมไทยให้ร่วมเป็นหนึ่งกำลังในการเปลี่ยนแปลง “คนพิการจากภาระให้เป็นพลัง”โดยการเสริมหนุนกลไกตัวกลางจากสภา/สมาคมธุรกิจในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของคนพิการอย่างต่อเนื่องและขยายวงกว้างในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย โดยการสนับสนุนของภาคเอกชนอันสอดคล้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร ที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าร่วมและการเชื่อมโยงทักษะความสามารถในเชิงธุรกิจสู่การพัฒนาและยกระดับคนพิการ ในการเสริมหนุนกลไกตัวกลางจากภาคเอกชนในการสร้างทักษะ สร้างงาน สร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่คนพิการและขยายผลได้อย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์ร่วมตลอดจนสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางธุรกิจขึ้น (Win-Win Approach)โดยมีเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการเชื่อมโยงการทำงานของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และคนพิการ อย่างบูรณาการ ตลอดจนรณรงค์ให้ภาคเอกชนอื่นๆ ร่วมส่งเสริมการสร้างโอกาสในการมีงานทำแก่คนพิการมากกว่าการให้แบบสังคมสงเคราะห์ เมื่อเอกชนเข้ามามากขึ้นกระบวนการสร้างความตระหนักสังคมและสร้างทัศนคติเชิงบวกในการเปิดโอกาสแก่คนพิการในสังคมไทยก็จะพัฒนาขึ้นต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น