กระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนการจัดงาน “CCE South East Asia - Thailand 2016” พร้อมส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในอาเซียน
กระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อมั่นธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทยมีมูลค่าเติบโตสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นและเป็นดัชนีชี้วัดมูลค่าการเติบโตของอุตสาหกรรมสินค้าไทยในภาคการผลิตส่งออกภายในประเทศและต่างประเทศฟื้นตัว ย้ำความร่วมมือ 4 พันธมิตรภาคธุรกิจไทยร่วมกันจัดงาน “CCE South East Asia -Thailand 2016” ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน 2559 นี้ จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดที่น่าจับตามองมากขึ้น
กรุงเทพฯ - นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “CCE South East Asia – Thailand 2016” โดยผู้จัดงานแสดงสินค้า บริษัท แม็ค บรูคส์ เอ็กซิบิชั่นส์ เอเซีย จำกัด ภายใต้การสนับสนุนจากพันธมิตรประกอบด้วย สมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย สมาคมการพิมพ์สกรีนไทย สมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดงานประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมของไทยต้องการที่จะเร่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็งในทุกภาคส่วน ซึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก มีความสำคัญมากในวงการอุตสาหกรรมของโลก เพราะเป็นเสมือนเครื่องมือหรือดัชนีชี้วัดกระแสการตอบรับจากผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี ทั้งในภาคอุตสาหกรรมขนาดย่อม ภาคอุตสาหกรรมในประเทศและต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสามารถพัฒนา และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้มาก ดังนั้นทั้งอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก จึงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยมีการพัฒนารูปแบบของบรรจุภัณฑ์ และมีการนำเทคโนโลยีงานวิจัยต่างๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพของการผลิต รูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ให้มีสีสันและรูปแบบสวยงาม มีจุดเด่นและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า สามารถนำมารีไซเคิล กลับมาใช้ใหม่ได้
นายไมเคิล วิลตัน ผู้อำนวยการโครงการงานแสดงสินค้านานาชาติ บริษัท แม็ค บรูคส์
เอ็กซิบิชั่นส์ เอเซีย จำกัด กล่าวว่างาน CCE South East Asia - Thailand 2016เป็นงานที่ผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก ในอาเซียนทุกวงการธุรกิจไม่ควรพลาด เพราะถือเป็นงานที่รวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นสายของการผลิตจนถึงปลายทางของอุตสาหกรรม ถือเป็นการตอบโจทย์ต่อความต้องการในการพัฒนาขีดความสามารถของการผลิตให้เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการในการผลิตบรรจุภัณฑ์ของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งการสนับสนุนของสมาคมต่าง ๆ จะเป็นพลังขับเคลื่อนที่ดีต่ออุตสาหกรรมในอนาคต ทั้งการร่วมแรงรังสรรค์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในการผลักดันประเทศให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่มีกระบวนการผลิตอย่างครบวงจรเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นสายของการผลิตจนถึงปลายทางของการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์กระดาษ
สำหรับการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของบรรจุภัณฑ์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. Marketing Value การออกแบบบรรจุภัณฑ์ลูกฟูก ให้มีรูปแบบ สีสันสวยงาม โดดเด่นสะดุดตา ให้ข้อมูลที่น่าสนใจแก่ผู้ซื้อ ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์และส่งเสริมการขายให้สินค้านั้นได้มากขึ้น
2. Functional Value การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มี Function พิเศษในการใช้งาน รวมถึงการผสมผสานใช้เทคโนโลยีด้าน IT เข้ามาเป็นลูกเล่นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน และการมีส่วนร่วม (engagement) ของผู้ใช้สินค้า
3. Human Value การออกแบบภายใต้แนวคิด Universal Design โดยคำนึงการใช้งานที่เหมาะกับกลุ่มคน ทุกเพศ ทุกวัย นอกจากนี้ สำหรับบรรรจุภัณฑ์ในกลุ่ม food, hygienics และ cosmetics มีการเลือกใช้กระดาษและควบคุมการผลิตให้สะอาดปลอดภัย
4. Eco Value การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีน้ำหนักเบา ด้วยการใช้กระดาษน้อยลง หรือกระดาษบางลง แต่มีความแข็งแรงเท่าเดิม และคำนึงถึงการนำกลับมา Recycle ได้ง่ายอีกด้วย
ทั้งนี้การเข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดงาน “CCE South East Asia -Thailand 2016” ครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกให้มีช่องทางการตลาดใหม่ๆ มีเวทีในการซื้อขาย และการเจรจาระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมคุณภาพของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกที่สมาชิกเป็นผู้ผลิตให้ได้มาตรฐานที่ดี และตอบสนองแนวโน้มความต้องการของผู้ใช้บรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้สมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย ยังพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐอย่างต่อเนื่อง
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย กล่าวรายงานถึงความพร้อมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษของไทย จากต้นนํ้าถึงปลายนํ้า โดยครอบคลุมตั้งแต่การปลูกป่า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นนํ้า จนถึง การนำไม้มาแปรรูปเป็นเยื่อซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ และสินค้า Hygienics ต่างๆ ได้แก่ กระดาษบรรจุภัณฑ์ ผ้าอ้อมอนามัย หรือเส้นใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ฯลฯ ตลอดจนนำกระดาษมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในอุตสาหกรรมต่างๆของไทยและของภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ซึ่งหากพูดถึงอุตสาหกรรมกระดาษลูกฟูก ประเทศไทยมีความได้เปรียบมากที่สุดใน ASEAN ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งนอกจาก อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษของไทย จะรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศแล้ว ยังสามารถส่งออกผลผลิตคุณภาพสูงไปจำหน่ายยังภูมิภาคต่างๆทั่วโลกอีกด้วย
ปัจจุบันอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกมีแนวโน้มในการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จากกระแสตอบรับการนำกระดาษมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้น และ นอกจากนี้อุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมยาและสินค้าทางเวชภัณฑ์ ได้สร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ควบคู่กับการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษทั้งสิ้น ซึ่งการสนับสนุนของสมาคม นับเป็นการเพิ่มขีดความเชื่อมั่นแก่ผู้ผลิตรายสำคัญของอุตสาหกรรม เช่น BHS Corrugated, BOBST, TCY, British Converting Solutions และ SANSIN ที่มีความตั้งใจในการนำเครื่องจักร เทคโนโลยี และ อุปกรณ์ต่าง ๆ มาแสดงในงาน“CCE South East Asia – Thailand 2016” สำหรับภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในครั้งนี้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น