กระทรวงเกษตรฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพ SIMA ASEAN Thailand2016 ระหว่าง 8 - 10 ก.ย. 59 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี พร้อมขนทัพโชว์ผลงานเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์การเกษตร
กระทรวงเกษตรฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพ SIMA ASEAN Thailand2016 ระหว่าง 8 - 10 ก.ย. 59 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี พร้อมขนทัพโชว์ผลงานเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์การเกษตร และปัจจัยการผลิตที่โดดเด่น ส่งเสริมการเรียนรู้ของเกษตรกรไทย พร้อมเป็นช่องทางเจรจาธุรกิจของ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หวังสร้างโอกาสขยายเครือข่ายธุรกิจไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน
นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือการเปิดเสรีทางการค้า ส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารไทยเคลื่อนย้ายผ่านกลไกการขนส่งได้อย่างเสรี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มปริมาณการค้าและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมให้เพิ่มขึ้น ภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกปีละหลายแสนล้านบาท อีกทั้งเกษตรกรยังมีความเชี่ยวชาญในการผลิต เนื่องจากทำเกษตรกรรมมาเป็นเวลานาน ประกอบกับมีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีการแปรรูปของผู้แปรรูปสินค้าเกษตร ส่งผลให้ไทยสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานโลก และเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลกมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรของไทยยังต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อภาคการผลิต โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทย การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และสนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และส่งเสริมการลดต้นทุนในด้านต่างๆ เช่น แรงงาน เพื่อให้สินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอาเซียน และตลาดโลกได้
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของเกษตรกร และสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2016 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 10 กันยายน 2559 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยร่วมจัดแสดงผลงานเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์การเกษตร และปัจจัยการผลิต เพื่อให้เกษตรกร และนักธุรกิจการเกษตร สามารถเลือกสรรเรียนรู้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพการผลิต รวมทั้งเป็นช่องทางในการเจรจาธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ที่ปรึกษาองค์กรภาครัฐ และเอกชน ตลอดทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ของเกษตรกรไทยและสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน
สำหรับผลงานเทคโนโลยีของกระทรวงเกษตรฯ ที่เข้าร่วมการจัดงานดังกล่าวนั้น กระทรวงเกษตรฯ จะร่วมจัดแสดงนิทรรศการในพื้นที่ 378 ตารางเมตร พร้อมทั้งนำผลงานไฮไลท์ของกรมในสังกัดทั้ง 4 กรม ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ดังนี้
1. เครื่องปลูกสับปะรดแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องใช้ปลูกหน่อสับปะรดที่ช่วยลดการใช้แรงงานคน แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และลดต้นทุนการผลิตสับปะรด ความสามารถในการทำงาน 0.63 ไร่ต่อชั่วโมง อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 2.15 ลิตรต่อไร่ เปอร์เซ็นต์การปักหน่อ 96.05%
2. เครื่องปลิดฝักข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เล็ก สามารถปลิดฝักข้าวโพดที่สูงกว่า 75 เซนติเมตร มีความสามารถในการทำงาน 2 - 3 ไร่ต่อชั่วโมง อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 2 ลิตรต่อชั่วโมง โดยใช้คนทำงานเพียงแค่สองคน
3. เครื่องหยอดปุ๋ยอ้อยแบบผสมแม่ปุ๋ยภายในตัวเองติดพ่วงรถแทรกเตอร์ ใช้สำหรับเกษตรกรไร่อ้อยที่ต้องการผสมปุ๋ยใช้เอง หรือใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยไม่ต้องผสมปุ๋ยก่อนนำมาใส่เครื่อง ทำให้ไม่เสียเวลา และประหยัดแรงงานในการผสมปุ๋ย
1.นิทรรศการแสดงระบบเชื่อมโยงคำขอกลางและระบบสนับสนุนใบอนุญาตและใบรับรองผ่านอินเตอร์เน็ตของกรมประมง Fisheries Single Window (FSW) ซึ่งเป็นระบบที่ให้บริการผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าประมง ยื่นคำขออนุญาต/คำรับรอง ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาต/ใบรับรอง ครอบคลุมสินค้าสัตว์น้ำ อาหารสัตว์น้ำ และวัตถุอันตรายทางการประมง ซึ่งเป็นการให้บริการในลักษณะเบ็ดเสร็จจากหน้าต่างบริการเดียว พร้อมทั้งมีการเชื่อมโยงข้อมูลการอนุญาต/การรับรอง ผ่านระบบ National Single Window (NSW) ไปยังกรมศุลกากร และรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลรับรองไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน
2.นิทรรศการแสดงระบบระบุตำแหน่งเรือประมงไทย VMS (Vessel Monitoring System) หนึ่งในมาตรการที่สำคัญในการแก้ไขปัญหา IUU ของไทย ซึ่งพัฒนาโดยกระทรวงเกษตรฯ ทำให้ทราบถึงโอกาสปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาระบบติดตามเรือของประเทศไทย อาทิ การเลือกใช้เทคโนโลยี VMS ที่เหมาะสมในเรือประมงแต่ละประเภท การพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและคาดการณ์ด้านการประมง ทัศนคติและความตระหนักของชาวประมง และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันมีประกาศของทางราชการที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขประมง IUU ให้เรือประมงตามขนาดตันกรอสที่ทางราชการประกาศกำหนด ต้องติดอุปกรณ์ VMS ตามเวลาที่กำหนดและรายงานตำแหน่งอัตโนมัติทุก ๆ 1 ชั่วโมง
นิทรรศการจัดตั้งศูนย์ผลิตอาหารโคนมในการเลี้ยงโคนมยุคใหม่ ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตน้ำนมโคครบวงจรกรมปศุสัตว์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สนับสนุนผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์โคนมให้สามารถดำเนินธุรกิจโคนมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดเกษตรแปลงใหญ่ด้านปศุสัตว์ โดยเกษตรกรมีการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่มาใช้ในแปลงหญ้าขนาดใหญ่กว่า 1,200 ไร่ ภายใต้แนวคิดการบริหารจัดการเครื่องมือจักรกลการเกษตรในการเลี้ยงโคนมขนาดใหญ่ (Motor pool) เพื่อลดต้นทุนการผลิต แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการอาหาร และการใช้อาหาร TMR (Total Mixed Ration) ช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพน้ำนมโค โดยสหกรณ์จะเป็นผู้รวบรวมน้ำนมดิบของสมาชิกไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นม และจำหน่ายอย่างครบวงจร ซึ่ง ธ.ก.ส จะสนับสนุนวงเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ ให้กับสหกรณ์แห่งละ 300 ล้านบาท
จัดนิทรรศการส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่มีความทันสมัย สวยงามมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ประกอบด้วย
1. ส่วนแลนมาร์ค (Exhibition Landmark) ตกแต่งด้วยผลผลิตพืชไร่ และไม้ประดับคุณภาพดี
2. ส่วนนิทรรศการ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 เทคโนโลยีการไถระเบิดดินดานในพื้นที่การปลูกพืชไร่โดยการแสดงลักษณะดินดานและลักษณะการไถระเบิดดินดาน รวมถึงผลการไถระเบิดดินดานที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดิน
ส่วนที่ 2 การสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น โดยแสดงข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องยนต์ ข้อแนะนำการใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตร และเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร โดยช่างเกษตรท้องถิ่นจากกรมส่งเสริมการเกษตร
ส่วนที่ 3 ระบบให้น้ำเพื่อการเกษตร โดยการสาธิตระบบสูบน้ำและความเสียดทานในบ่อ สาธิตหัวปล่อยน้ำชนิดต่าง ๆ และคุณลักษณะของเทปน้ำหยด
“กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการส่งเสริมให้มีการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีมาตรฐานความปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งการเข้าร่วมจัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2016 ในครั้งนี้ จะนำผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรที่เข้าชมงานได้รับทราบถึงประโยชน์ของเครื่องจักรกลการเกษตรที่หลากหลาย และเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการเกษตรของตนเอง ตลอดจนเป็นแนวทางให้ผู้ผลิตเครื่องจักรกลเกษตรของไทยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรให้ดียิ่งขึ้น เกิดการเชื่อมโยงการผลิต การตลาด ระหว่างเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า รวมถึงเกษตรกรจะได้รับทราบถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ในวงการเครื่องจักรกลการเกษตรของไทย อันเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน” นายศักดิ์ชัย กล่าว
------------------------------
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น