กสอ. เผยรายชื่อ 8 ย่านแฟชั่นไทย สุดชิค พร้อมตั้งเป้าพัฒนาไทยสู่ประเทศแห่งแฟชั่นครบวงจรที่สุดในเอเชีย
กรุงเทพฯ – 6 มิถุนายน 2559 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยย่านแฟชั่น ที่มีศักยภาพของประเทศไทยจำนวน 8 ย่าน ได้แก่ ผ้าไหมปักธงชัย มีนบุรี ศูนย์การค้าเทอมินัล 21 ตลาดนัดสวนจตุจักร การค้าสำเพ็ง สยามสแควร์ คริสตัล วิรันด้า และการค้าจังหวัดสกลนคร ซึ่งผ่านการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย Thailand Fashion Cluster 2016 ในสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ รวมไปถึงวัตถุดิบและ accessory แฟชั่น เพื่อให้มีความเข้มแข็งทั้งด้านการผลิตและการจำหน่าย รวมถึงพัฒนาแบรนด์และอัตลักษณ์ให้โดดเด่น พร้อมวางเป้าหมายสูงสุดในการทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทยมีความสมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย อย่างไรก็ดี ในปี 2558 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมีมูลค่ารวมกว่า 620,000 ล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าสินค้า ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ให้ขยายตัวมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2560
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย Thailand Fashion Cluster 2016 ขึ้น ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ภายใต้แนวคิด การสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายธุรกิจแฟชั่น ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีย่านแฟชั่นที่มีความสมบูรณ์แบบ จำนวน 8 ย่าน ได้แก่ ย่านการค้าผ้าไหม ปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ย่านการค้ามีนบุรี ย่านศูนย์การค้าเทอมินัล 21 ย่านตลาดนัด สวนจตุจักร ย่านการค้าสำเพ็ง ย่านสยามสแควร์ ย่านคริสตัล วิรันด้า ย่านการค้าจังหวัดสกลนคร โดยในแต่ละย่านนั้นมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน และมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ อาทิ ย่านคริสตัล วิรันด้า (ศูนย์การค้า เดอะคริสตัล ช้อปปิ้งมอลล์ ถนนประดิษฐ์มนูธรรม) นั้นเป็นย่านที่มีความโดดเด่นด้วยแบรนด์แฟชั่นจากกลุ่มดีไซน์เนอร์ไทยที่สร้างผลงาน ซึ่งแสดงออกถึงความเป็นลักซ์ชัวรี่แบรนด์ และย่านการค้าจังหวัดสกลนคร ที่เป็นย่านแฟชั่นผ้าคราม ซึ่งเป็นผ้าแห่งภูมิปัญญาไทยที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่ชัดเจนทั้งสีสันและรูปแบบ เป็นต้น
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมีมูลค่ารวมกว่า 620,000 ล้านบาท และกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าสินค้าในอุตสาหกรรมแฟชั่น ให้ขยายตัวมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2560 โดยที่ผ่านมาได้มีนโยบายในการสนับสนุน ผ่านการดำเนินงานพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น 4 สาขาเป้าหมาย ประกอบด้วย (1) อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (2) อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า (3) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (4) ธุรกิจสินค้าเกี่ยวกับวัตถุดิบ และ accessory แฟชั่น เพื่อให้เกิดการสร้างความร่วมมือและเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายของย่านแฟชั่นที่มีอัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์เฉพาะ และรวบรวมข้อมูลด้านสินค้าและบริการ เพื่อเผยแพร่ผลักดันเครือข่ายธุรกิจย่านแฟชั่นให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของตลาดอุตสาหกรรมแฟชั่น
ด้าน นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การดำเนินงานของเครือข่ายย่านแฟชั่น มุ่งเน้นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เกิดเป็นเครือข่ายที่จะเกื้อหนุน ซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ โดยดึงเอาความโดดเด่นของแต่ละเครือข่ายที่มีความแตกต่างกันเชิงพื้นที่หรือย่านการค้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ รวมถึงการแสวงหาโอกาสร่วมกันโดยการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายในอุตสาหกรรมแฟชั่นในลักษณะผสมผสานสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ของสมาชิกในเครือข่ายและต่างเครือข่ายให้เกิดการผลิตในรูปแบบนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ โดยภายใต้โครงการฯ ดังกล่าวนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ด้วยการพัฒนาแบรนด์และอัตลักษณ์ของแบรนด์ และบูรณาการสร้างการรับรู้ในอัตลักษณ์แบรนด์ที่สังเคราะห์จากอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ของแต่ละเครือข่าย ตลอดจนสร้างความหลากหลาย (Variety) ทักษะทางด้านการออกแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมแฟชั่น สร้างสรรค์เป็นมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์แฟชั่นของตราสินค้าที่ประสบความสำเร็จและสร้างให้เครือข่ายของย่านการค้าเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่น รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นให้มีการสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ. ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของ SMEs ด้วยกระบวนการและเครื่องมือต่าง ๆ เช่น การสร้างระบบบริหารจัดการสากล การยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจ การพัฒนาประสิทธิภาพ การผลิต การจัดการด้านพลังงาน การยกระดับระบบการผลิตสู่การผลิตบนฐานนวัตกรรม การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster) ซึ่งล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงการผลิตภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงกับ SMEs เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันจะนำไปสู่โอกาสการบูรณาการให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
โดยได้มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีความชำนาญและประสบการณ์โดยตรงในการพัฒนาผู้ประกอบการรายเดิมและสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ในหลากหลายสาขา ทั้งในภาคการผลิต การค้า และการบริการ รวมทั้งผู้ประกอบการ ด้านการออกแบบ เป็นที่ปรึกษากิจกรรมสร้างเครือข่ายย่านแฟชั่น เพื่อสนับสนุนภารกิจในการส่งเสริม SMEs ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น เชื่อมโยงสมาชิกทั้งในและนอกเครือข่ายย่านการค้าแฟชั่น บูรณาการด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่การเป็นอุตสาหกรรมแฟชั่นสร้างสรรค์ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและยั่งยืน สร้างรายได้ให้กับแรงงานภายในประเทศและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าแฟชั่นไทย ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม ชั้น 5 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวี กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4575 , 4581 และสามารถ ติดตามข้อมูลข่าวสาร / กิจกรรม / โครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น