กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไทย - อินเดีย จัดงานแสดงสินค้า Southern International Trade Expo ระหว่าง 23 - 26 กรกฎาคม 2558 ที่เซ็นทรัลพลาซ่า สุราษฎร์ธานี เพื่อมุ่งสานความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างสุราษฎร์ธานีและเมืองสุราต รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ได้มีพิธีเปิดงานแสดงสินค้า Southern International Trade Expo ณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า สุราษฎร์ธานี โดยมีพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานเปิดงานร่วมกับดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม Mr. G. Balasubramanian (จี บาลาสุบรามาเนียน) อัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย Mr. Niranjan Zanzmera (นิรันจัน ซันสเมรา) นายกเทศมนตรีเมืองสุราต Mr. Purneshkumar Ishverlal Modi (เพอเนชกุมา อิชเวอร์ลาล โมดี) ประธานพรรคบีเจพี (BJP) เมืองสุราต พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ กล่าวว่าการจัดงานแสดงสินค้า Southern International Trade Expo ในครั้งนี้ มีจุดกำเนิดจากการที่ตนเองได้จัดคณะเดินทางไปอินเดียพร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือระหว่างหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานีและหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งรัฐคุชราตใต้ (Southern Gujarat Chamber of Commerce and Industry : SGCCI) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558ที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย
ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองสุราต รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย และสุราษฎร์ธานี ที่มีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน ครบ 100 ปี ในปีนี้นับจากวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนาม “สุราษฎร์ธานี” เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 ซึ่งมีความหมาย “เมืองคนดี” ให้สอดคล้องกับชื่อเมืองสุราตในประเทศอินเดียอันเป็นสถานที่กำเนิดของพระพุทธศาสนา และปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 เมืองได้กระชับแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นจากการลงนามบันทึกความเข้าใจเป็นบ้านพี่เมืองน้องสุราต-สุราษฎร์ธานี ระหว่างหอการค้าเมืองสุราต และหอการค้าสุราษฎร์ธานี
ด้านความสัมพันธ์ในปัจจุบัน อาเซียนกับอินเดีย เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของกันและกัน โดยในปี 2557 การค้าของอาเซียน 10 ประเทศกับอินเดีย มีมูลค่าสูงถึง 76,737 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ซึ่งครอบคลุมทั้งการค้า บริการและการลงทุน ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายการค้าการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ภูมิภาค นอกจากความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาคแล้ว ไทยกับอินเดียยังมีความเชื่อมโยงทางการค้าการลงทุนในระดับทวิภาคีอีกด้วย โดยทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-อินเดีย มาตั้งแต่ปี 2546 และได้เห็นชอบการเร่งลดภาษีสินค้าบางส่วนทันที ( Early Harvest Scheme : EHS ) โดยการยกเลิกภาษีสินค้าจำนวน 82 รายการ อาทิ เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน ข้าวสาลี อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณี และเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ บอลล์แบริ่ง และส่วนประกอบของเครื่องยนต์ เป็นต้น ซึ่งมีผลให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายไทย-อินเดีย เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2546 เป็น 8,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในปี 2557 และเชื่อว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8
ในปลายปี 2558 นี้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กำลังจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และประเทศคู่ค้าจะได้ประโยชน์เป็นอย่างมากจากการที่อาเซียนจะเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวขนาดใหญ่ และจากการที่อาเซียนมีความเชื่อมโยงทางการค้าการลงทุนกับอินเดีย และประเทศที่มีศักยภาพสูงอื่นๆในเอเชีย อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ผ่านความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศนั้นๆ โดยที่ประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลางของอาเซียน จึงมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางของความเชื่อมโยง (Hub of ASEAN Connectivity) ในมิติต่างๆ ทั้งการค้า การลงทุน การคมนาคม โลจิสติกส์ และการบริการอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคเพื่อเป็นช่องทางการกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดอาเซียนและเพื่อสอดรับการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงในอาเซียน รัฐบาลไทยมีนโยบายเร่งขับเคลื่อนการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้านเครือข่ายคมนาคมขนส่ง อาทิ การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง การพัฒนาท่าอากาศยาน การพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ใหม่ทั่วประเทศ 8 เส้นทางเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงโดย 2 เส้นทางแรกรวมระยะทางประมาณ 1,200 กิโลเมตรจะเริ่มก่อสร้างในเดือนมกราคมปีหน้า ที่จะเชื่อมเมืองหลักของไทยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลาง
ไทยยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจจากไทยผ่านเมียนมาร์เข้าสู่อินเดีย โดยไทยได้กำหนดให้จังหวัดตาก (พื้นที่ 3 อำเภอ) เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนำร่องและการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกจากจังหวัดตากเชื่อมเข้าสู่เมียนมาร์ ทั้งนี้ แม่สอดอยู่ตรงจุดกลางของการขนส่งสินค้าระหว่างอินเดียกับกลุ่มประเทศอาเซียน จึงมีศักยภาพสูงในการเป็นจุดเชื่อมต่อบนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) และเป็นสะพานเศรษฐกิจที่เชื่อมอินเดียเข้ากับภูมิภาคอาเซียน และขอถือโอกาสนี้ ชื่นชมนโยบาย Act East ของรัฐบาลอินเดีย และการประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ของนายกรัฐมนตรีอินเดียที่จะเร่งเดินหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงความยาว 3,200 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงเมืองโมเรห์ ในรัฐมณีปุระ ทางภาคตะวันออกของอินเดียเข้าสู่อำเภอแม่สอดของไทย ซึ่งหากการก่อสร้างเส้นทางดังกล่าวครบถ้วนสมบูรณ์ตลอดเส้นทางแล้ว จะช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทางและการขนส่งเป็นอย่างมาก โอกาสนี้ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เชิญชวนผู้ลงทุนจากประเทศต่างๆ พิจารณาร่วมลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีในระดับสูงสุด ในกรณีเป็นกิจการเป้าหมาย
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังเน้นอีกว่า ตลาดอินเดียมีความน่าสนใจและมีศักยภาพที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายตลาดอย่างมากและการที่อินเดียมีจำนวนประชากรกว่า 1,180ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน ทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมหาศาล ประกอบกับที่ผ่านมาการค้าขายส่งออกระหว่างไทยกับประเทศอินเดียเป็นไปด้วยดีตลอดมา โดยในปี 2557 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปอินเดียมีมูลค่าการส่งออกกว่า 5,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกของไทยประกอบด้วยสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก ที่สำคัญได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับและยางพารา เชื่อว่าภาคเอกชนไทยจะใช้โอกาสงาน Southern International Trade Expo นี้ ทำการค้าระหว่างกันและขยายมูลค่าการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพของ 14 จังหวัดภาคใต้ให้มากยิ่งขึ้น
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค กล่าวเสริมว่า การจัดงานแสดงสินค้า Southern International Trade Expoนับเป็นงานสานสัมพันธ์ทางการค้าที่สำคัญยิ่ง โดยภายในงานฯ จะมีการแสดงสินค้าทั้งสิ้น 180 คูหา ซึ่งคัดเลือกจากบริษัทที่มีศักยภาพในการส่งออกใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยแบ่งเป็นกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่น สินค้าสุขภาพและความงาม สินค้าของใช้ภายในบ้าน/ของแต่งบ้าน สินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง โลจิสติกส์/ธุรกิจบริการ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงสินค้าจากประเทศอินเดียอีก 30 บริษัทและประเทศมาเลเซียจากรัฐชายแดน 3 คูหาและมีนิทรรศการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาให้คำแนะนำข้อมูลสินค้าและบริการ อาทิ คูหานวัตกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพารา สินค้าพลังงานทดแทน (Wood Pallet) และแนะนำมาตรฐาน Halal เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการเจรจาธุรกิจ โดยกรมฯ ได้เชิญบริษัทผู้ซื้อยางพาราและผลิตภัณฑ์ 68 บริษัทจาก 17 ประเทศทั่วโลกซึ่งแจ้งความต้องการซื้อยางพารากว่า 500,000 ตัน และเชิญผู้นำเข้าและผู้ซื้อสินค้าอื่นๆจากประเทศอินเดีย จีน อาเซียนและประเทศอื่นๆ อีกเกือบ 400 รายมาร่วมเจรจาสั่งซื้อสินค้าไทยในงานนี้ และยังมีการสัมมนา/Workshop ด้านโลจิสติกส์ การพัฒนาสินค้าฮาลาลและการเจรจาธุรกิจระหว่างประเทศ ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า และกิจกรรมพิเศษของหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการงานในครั้งนี้ อาทิ การสัมมนาสิทธิประโยชน์ทางการค้าไทย-อินเดีย การจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง คูหาความสัมพันธ์ ไทย-อินเดีย การแสดงบนเวที การสาธิตอัตลักษณ์การนวดแผนไทย การแสดงหัตถศิลป์
คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานครั้งนี้ทั้งสิ้นกว่า 100,000 รายทั้งที่เป็นกลุ่มเป้าหมายต่างประเทศ ได้แก่ นักธุรกิจ ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าและผู้ประกอบการ และกลุ่มเป้าหมายในประเทศ ได้แก่ นักธุรกิจ ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ 14 จังหวัดภาคใต้ตลอดจนประชาชนทั่วไปในภูมิภาค และคาดว่าจะมีมูลค่าสั่งซื้อทันที 30 ล้านบาทและคาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปีประมาณ 1,200 ล้านบาท
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น