กรมส่งเสริมการค้าฯเผยโอกาสอัญมณี-เครื่องประดับเงินไทยในเกาหลี เน้นขายแบรนด์ - สินค้าแฟชั่น ปลื้มนักออกแบบดังซีรี่ส์เกาหลี“สูตรรักฉบับเจ้าหญิง”สนใจแบบดีไซเนอร์ไทย
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการเจาะตลาดใหม่เพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้าไทยตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ว่า กรมฯจัดคณะผู้ประกอบการไทย 12 ราย เดินทางไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดสินค้าเครื่องประดับเงินที่มีดีไซน์ ในรูปแบบมินิ เอ็กซิบิชั่น พร้อมเปิดเจรจาการค้า ณ ประเทศเกาหลี โดยมีผู้ประกอบการเกาหลีเข้าร่วมงานราว 50 ราย มีการจับคู่เจรจาธุรกิจประมาณ 122 ราย ในงานนี้มีแบรนด์ดังของเกาหลีที่ออกแบบเครื่องประดับในละครซีรีย์สนใจสั่งซื้อสินค้า คาดว่าจะเกิดมูลค่าการซื้อขายภายใน 1 ปี ราว 42 ล้านบาท
"จากนโยบายผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ(หักทองคำ)เป็น1 ใน 4 กลุ่มสินค้าสำคัญ (อุตสาหกรรมหนัก เกษตรและยานพาหนะ ปิโตรเคมี อัญมณีและเครื่องประดับ)โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันการส่งออกให้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น5% มูลค่า 7,666 ล้านดอลลาร์ จาก 5 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ค.)ของปีนี้ ส่งออกมูลค่า 2,971 ล้านดอลลาร์ ต้องทำเพิ่มอีก 4,695 ล้านดอลลาร์โดยเน้นตลาดส่งออกศักยภาพ ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังนี้ กรมฯมีแผนผลักดันการส่งออก โดยจะจัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย ตะวันออกกลางและ อินเดีย เพื่อเจรจาขยายตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ”นางนันทวัลย์ กล่าว
สำหรับการเดินทางไปขยายตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในเกาหลีครั้งนี้ จากการสำรวจตลาดพบว่า การทำตลาดอัญมณีฯในเกาหลีต้องเข้าใจ วัฒนธรรมเกาหลีด้วย ปัจจัยสำคัญในการทำแบรนด์ของสินค้าแฟชั่นในเกาหลี ต้องใช้บุคคลที่มีอิทธิพล เช่น นักร้อง ดารา นักแสดง ซึ่งมีอิทธิพลกับการตัดสินใจของผู้บริโภคอย่างมาก ในงานนี้ มีคิม จอง จู ซีอีโอแบรนด์ดังของเกาหลี “มูช่า”(Mucha) ผู้ออกแบบมงกุฎนางงามเกาหลี และออกแบบเครื่องประดับที่นำมาใช้ในซีรี่ส์ละครดัง เช่นหล่อน่ารักกับซุปเปอร์สตาร์น่าเลิฟ(You’re Beautiful) และ สูตรรักฉบับเจ้าหญิง(My Princess) เป็นต้น ให้ความสนใจในงานของแบรนด์ไทย อาทิ แอท มิสไซ(AT MISSILE) และ เทวัญ ดารา(DHEVAN DARA)
ปัจจุบันการใช้เว็บไซต์ บล็อก อินสตาร์แกรม โปรโมทสินค้าต่างๆ ของตนเองได้รับความนิยมมาก การทำตลาดเช่นนี้ใช้งบประมาณไม่มาก โดยตลาดเกาหลีจะแบ่งเป็นตลาดสำหรับของขวัญงานแต่งงาน และตลาดทั่วไป แบ่งเป็นสินค้าแฟชั่นอัญมณี 71% เครื่องประดับอัญมณีแท้ 29% สินค้าแฟชั่นอัญมณี เป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการซื้อของผู้หญิง 71% และผู้ชาย29% อยู่ในช่วงอายุ 20–30ปี เลือกซื้อมีสัดส่วนมากที่สุด 38% สนนราคาที่ทำการซื้อ-ขายส่วนใหญ่ ระหว่าง 200-400เหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วน 32% สถานที่ซึ้ออัญมณีและเครื่องประดับร้านแฟชั่นทั่วไป 42.2%ร้านอัญมณีและเครื่องประดับ 31%ห้างสรรพสินค้า 10.8%อื่นๆ 13.9%
นางนันทวัลย์ กล่าวว่า การนำเข้าอัญมณีของคู่แข่งในเกาหลีใต้ มีแบรนด์นำเข้าจากฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และ ฮ่องกง ส่วนอัญมณีราคาไม่สูงจะนำเข้าจากจีน ในด้านการออกแบบเครื่องประดับเงินได้รับความนิยมในเกาหลีอย่างมากและอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาทองมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้รสนิยมเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคต้องการ จับจ่ายใช้สินค้าที่มีสไตล์ มีวัสดุที่ดีและเปลี่ยนรูปแบบเรื่อยๆ คนเกาหลีนิยมสินค้าแฟชั่นอัญมณีมากขึ้น และรสนิยมที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภค
สำหรับการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปยังเกาหลีใต้ในปี 57 มีมูลค่า 39.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวสูงถึง 107%โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าเครื่องประดับเงิน คิดเป็นมูลค่า 16.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 42% ส่วนการส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้(ม.ค. – มี.ค.) มีมูลค่าราว 1,922 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(ไม่รวมทองคำ) เพิ่มขึ้น 4.8% เป้าหมายการส่งออกปี 58 คิดเป็นมูลค่า 7,666 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 5%
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น