วันที่ 2 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาคีส์ ควีนส์ปาร์ค นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการเจรจาการค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราระหว่างผู้นำเข้าต่างประเทศและผู้ประกอบการไทยว่า มีผู้ซื้อผู้นำเข้ากว่า 100 ราย จาก 25 ประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศในอาเซียน อินเดีย บังคลาเทศ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป รัสเซีย อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน ตุรกี อาร์เจนติน่า และสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ประกอบการไทยเกือบ 100 ราย เข้าร่วมการเจรจาธุรกิจในครั้งนี้
“กระทรวงพาณิชย์เชื่อมั่นว่า กิจกรรมการเจรจาการค้าในวันนี้จะเป็นอีกก้าวแห่งความสำเร็จที่สำคัญแก่อุตสาหกรรมยางพาราไทยในการขยายตลาด แสวงหาและสร้างพันธมิตรกับคู่ค้ารายใหม่ ตลอดจนตอกย้ำความสัมพันธ์ทางการค้ากับคู่ค้าต่างประเทศ สำหรับสินค้ายางพาราที่ได้รับความสนใจจากผู้นำเข้าต่างประเทศ ได้แก่ ยางล้อ ยางธรรมชาติ ถุงมือยาง ยางคอมพาวด์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ คาดว่าการจับคู่ธุรกิจครั้งนี้จะเกิดมูลค่าการซื้อขายโดยรวมกว่า 15,000 ล้านบาท” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า ผู้นำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางรายใหญ่จากต่างประเทศที่ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย ผู้นำเข้าจากประเทศจีน อาทิ บริษัท ชิงต่าว ดับเบิ้ลสตาร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ภายใต้แบรนด์ดับเบิ้ลสตาร์ ซึ่งเป็นแบรนด์อันดับ 1 ของจีน บริษัท ชิงต่าว เซนทูรี่ ไทร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายล้อรถยนต์และเครื่องบิน มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีกำลังการผลิต 27 ล้านล้อต่อปี และบริษัท กวางโจว ซิโน รับเบอร์ ผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ของมณฑลกวางตุ้ง
นอกจากนี้ยังมีบริษัท บาเรซ อินดัสเตรียล คอมเพล็กซ์ จากอิหร่าน ผู้ผลิตยางรถยนต์และอะไหล่รถยนต์ทำจากยางพาราใหญ่อันดับ 1 ของประเทศ บริษัท คาเร็กซ์ เบอร์ฮัด จากมาเลเซีย ผู้ผลิตถุงยางอนามัยรายใหญ่ของโลก มีกำลังการผลิต 5 ล้านชิ้นต่อปี และบริษัท เดอะ เซาเทิร์น รับเบอร์ อินดัสตรี จากเวียดนาม ผู้ผลิตนำเข้าและผู้ผลิตยางในรถจักรยาน จักรยานยนต์ และรถยนต์ประเภทต่างๆ เป็นต้น ด้านผู้ประกอบการไทยรายสำคัญที่เข้าร่วมงาน อาทิ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยฮั้ว ยางพารา จำกัด (มหาชน) บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภทบ่อทอง จำกัด
ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตยางพาราคุณภาพสูงที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีศักยภาพการผลิตถึงกว่า 4 ล้านตันต่อปี ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสามของปริมาณการผลิตยางพารารวมทั้งโลก นอกจากนี้ไทยยังเป็นแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ เป็นผู้ส่งออกยางยานพาหนะอันดับ 5 ของโลก ผู้ส่งออกถุงมือยางอันดับ 2 ของโลก และยังเป็นผู้ผลิตผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำจากยางพารารายใหญ่
การส่งออกยางพาราในเดือนมิถุนายน 2560 มีมูลค่า 14,345 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนของปีที่ผ่านมาร้อยละ 22.8 สำหรับการส่งออกยางพาราในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม – มิถุนายน) ของปี 2560 มีมูลค่า 113,019 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาร้อยละ 55.1 ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในเดือนมิถุนายน 2560 มีมูลค่า 28,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.7 และการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 มีมูลค่า 170,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.2
* * * * * * *
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น