ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แจง ตามมติ ครม. 8 พ.ย. 59 กับการปรับเพิ่มเติมมาตรการช่วยเหลือชาวนา โดยชาวนาได้ประโยชน์ทุกคนทั้งผู้ที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวเจ้า และข้าวปทุมธานี 1 หากเข้าร่วมโครงการชะลอการขายข้าวเปลือก ราคาข้าวดีเมื่อไหร่แล้วค่อยขาย รับเงินเพิ่มค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉาง 1,500 บาทต่อตันนอกจากนี้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการและไม่ได้เข้าร่วมโครงการชะลอการขายข้าวเปลือกก็จะได้รับค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว 2,000 บาท ต่อตันทุกคน
นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ให้มีการปรับเพิ่มเติมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2559/60ในส่วนของโครงการชะลอการขายข้าวเปลือก โดยมีการขยายกลุ่มผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการจากเกษตรกรรายคน และสหกรณ์การเกษตร ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และขยายพื้นที่ดำเนินโครงการให้ครอบคลุมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิ (ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15) ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ในทุกพื้นที่ โดยกำหนดวงเงินในสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือก ความชื้นต้องไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปน ไม่เกินร้อยละ 2 สำหรับข้าวหอมมะลิชนิดสีได้ต้นข้าว 36 กรัม ขึ้นไป ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 7,000 บาท และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 7,800 บาท
นอกจากนี้ยังช่วยเหลือด้านเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อย ผู้ปลูกข้าวซึ่งประสบปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลยังช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั้ง 3 ชนิด ตันละ 2,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลิ ไร่ละ 800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่, ข้าวเจ้า ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ และข้าวปทุมธานี 1 ไร่ละ 1,200 บาท ไม่เกิน 10 ไร่
รวมที่เกษตรกรได้รับ คือ ข้าวเปลือกข้าวหอมมะลิ 16,500 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้าหน้าปี 13,500 บาท ต่อตัน และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ได้ 13,900 บาทต่อตัน
และทางเลือกในการชำระหนี้ของชาวนา หากครบกำหนด 6 เดือนราคาข้าวในตลาดต่ำกว่าเงินกู้ ธ.ก.ส. ขยายเวลาชำระหนี้ให้อีก 3 เดือน โดยไม่เสียดอกเบี้ย ชาวนาไม่ต้องรับผิดชอบส่วนต่าง อาทิเช่น เงินกู้ 9,500 บาทต่อตัน ราคาตลาด 8,000 บาทต่อตัน ก็ชำระหนี้เพียง 8,000 บาทต่อตัน โดยในส่วนต่าง 1,500 บาทต่อตัว ชาวนาไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนต่างนี้ และหากในระยะเวลาที่กำหนดในการชำระหนี้ราคาข้าวในตลาดสูงกว่าวงเงินกู้ ชาวนาสามารถแจ้ง ธ.ก.ส. แล้วเอาข้าวไปขาย ชาวนาสามารถรับส่วนต่างไปได้เลย
ท้ายนี้ได้เน้นย้ำเพิ่มเติมว่าในกรณีเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้วนำข้าวไปขายในตลาดแล้วก็ยังสามารถติดต่อรับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวได้ที่ ธ.ก.ส.โดยชาวนาต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรตามฐานข้อมูล โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิต
โดยเกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพาณิชย์ สำนักงานเกษตร และ ธ.ก.ส. ในจังหวัดของท่าน หรือสายด่วน 1569
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น