รัฐบาล เอกชน และภาคประชาสังคม ผนึกกำลังลงนามความร่วมมือฯ ผลักดันอาชีวศึกษาไทยก้าวไกล สามารถแข่งขันในตลาดโล
สานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา
รัฐบาล เอกชน และภาคประชาสังคม ผนึกกำลังลงนามความร่วมมือฯ
ผลักดันอาชีวศึกษาไทยก้าวไกล สามารถแข่งขันในตลาดโลก
ผลักดันอาชีวศึกษาไทยก้าวไกล สามารถแข่งขันในตลาดโลก
21 มกราคม 2559 ณ โรงแรมสยามเคมเปนสกี้ กรุงเทพฯ – 3 กระทรวง จับมือ 13 องค์กรเอกชนชั้นนำระดับประเทศ และภาคประชาสังคม สานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทัดเทียมเวทีโลก ตั้งเป้าเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 2 ปี
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในการลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือสานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา (Competitive Workforce)” ของคณะทำงานการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ซึ่งเป็นคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน (ประชารัฐ) โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วยอีก 2 กระทรวง คือ กระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชนประกอบด้วย 13 องค์กรชั้นนำระดับประเทศ โดยมีนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน และ พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานกรรมการบริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ตัวแทนภาคประชาสังคมในการพัฒนาทุนมนุษย์ เข้าร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เปิดเผยว่าการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในครั้งนี้ เป็นไปตามมติของคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (Public – Private Steering Committee) ที่ทำหน้าที่ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน (High Income with Inclusive Growth)
ซึ่งกุญแจแห่งความสำเร็จเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประกอบไปด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ การยกระดับคุณภาพคน และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยคณะกรรมการชุดนี้จะดำเนินการในลักษณะหุ้นส่วนภาครัฐ เอกชน และประชาชน (ประชารัฐ) เน้นการ "ขับเคลื่อน" ผ่านกิจกรรมที่เป็น Action Agenda โดยอาศัย 4 ยุทธศาสตร์หลักได้แก่ 1) ธรรมาภิบาล 2) นวัตกรรมและผลิตภาพ 3) การพัฒนาทุนมนุษย์ 4) การมีส่วนร่วมในความมั่งคั่ง
ทั้งนี้ จึงได้มอบหมายให้คณะทำงานด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) เป็นคณะที่ดูแลรับผิดชอบในส่วนของการผลักดันให้เกิดการพัฒนาและสร้างอาชีวศึกษาให้มีความเป็นเลิศในแต่ละด้านโดยข้อตกลงฯ นี้มีกำหนดระยะเวลาการดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยมีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้น 2 ปี และเมื่อครบ 2 ปีแรกแล้ว ทุกฝ่ายจะมาประเมินผลการทำงานและพิจารณาทบทวนร่วมกันอีกครั้ง เพื่อที่จะได้นำไปขยายผลต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไป
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ กล่าวว่า “คณะทำงานฯ มีภารกิจหลัก 5 ประการ คือ 1) การสร้างค่านิยมหรือแรงจูงใจให้เด็กมาเรียนอาชีวะมากขึ้น 2) การผลิตผู้เรียนอาชีวะในสาขาที่ขาดแคลนให้ปริมาณเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ 3) การสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนอาชีวะ 4) การสร้างอาชีวะให้มีความเป็นเลิศในแต่ละด้าน 5) ให้อาชีวะมีความเป็นสากลและมีความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น
ในส่วนของบทบาทภาครัฐ จะได้ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อมูลสถิติ การกำหนดและประเมินมาตรฐานฝีมือแรงงาน, การสนับสนุนด้านนโยบาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและสิทธิประโยชน์เพื่อเกื้อหนุนภาคเอกชนในการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน”
ทางด้านความร่วมมือในภาคเอกชน ที่เข้าร่วมในการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ครั้งนี้ประกอบด้วยตัวแทนจากบริษัทเอกชนชั้นนำระดับประเทศจำนวน 13 องค์กรได้แก่ เอสซีจี, บจก. การบินกรุงเทพ, บมจ. ช.การช่าง, บจก. ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี, บมจ. ซีพี ออลล์, บมจ. ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์, บมจ. ธนาคารกสิกรไทย, บจก. น้ำตาลมิตรผล, บจก. ฤทธา, บจก. สรรพสินค้าเซ็นทรัล, บมจ. ไออาร์พีซี, บมจ. ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล และ บจก. ฮอนด้า ออโตโมบิล
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชนด้านการยกระดับฯ กล่าวว่า “การลงนามในครั้งนี้เป็นการประกาศถึงเจตนารมณ์ของภาคเอกชนที่อาสาทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก โดยแนวทางการขับเคลื่อนด้านการยกระดับวิชาชีพฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก (Quick Win) จะใช้เวลา 6 เดือน ว่าด้วย 1.Re-Branding เพื่อสร้างแรงจูงใจผ่านภาพลักษณ์ที่ดีกับกลุ่มเป้าหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยสื่อสารให้เห็นถึงโอกาสความก้าวหน้าในวิชาชีพอาชีวศึกษารวมถึง ผลตอบแทนที่ดีตามระดับทักษะความสามารถที่ได้รับการประเมินตามมาตรฐาน นอกจากนั้น ต้องสร้างความภาคภูมิใจให้กับบุคลากรสายวิชาชีพอาชีวศึกษา ว่าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ 2.สร้าง Excellence Model Schools ซึ่งจะได้พิจารณาคัดเลือกสถานศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ มีรูปแบบ (Model) การเรียนการสอนที่เหมาะสม และสามารถเป็นพี่เลี้ยงสถานศึกษาอาชีวศึกษา รวมทั้งปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน ให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม 3.ร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูล (Database) ทั้งในส่วนอุปสงค์ของความต้องการแรงงานวิชาชีพ (Demand) และอุปทานของแรงงานวิชาชีพที่เรียนจบมา (Supply) ของภาพรวมทั้งประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ โดยเน้นความเร่งด่วนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่
ส่วนในระยะ Medium & Long term คณะทำงานมีแผนที่จะ 1. กำหนดมาตรฐานทักษะวิชาชีพ การเรียนการสอน การจ้างงาน ค่าตอบแทน ฯลฯ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือ 2. แก้ไขกฎหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมการยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา 3. ส่งเสริมการยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษาให้ยั่งยืน เช่น บรรจุการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพเข้าไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 4. ผลักดันให้มีหน่วยงานที่รวบรวม Database ของวิชาชีพอาชีวศึกษาให้เป็นรูปธรรม 5. พัฒนาหลักสูตร และครูผู้สอน โดยให้มีสถาบันพัฒนาครูระดับอาชีวศึกษา”
ทางด้านพลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานกรรมการบริหาร สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า “ในฐานะองค์การมหาชนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อพัฒนากำลังคนทั้งในและนอกระบบการศึกษาให้มีสมรรถนะที่ประเมินได้อย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ จะมีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังคนรุ่นใหม่ในการส่งเสริมอาชีวศึกษาให้สามารถผลิตกำลังคนให้ได้มาตรฐานอาชีพตามความต้องการของอุตสาหกรรม สถาบันฯจะเร่งผลักดันสาขาในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ New S-Curve Industries อันได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมดิจิตัล รวมถึงการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
พร้อมกันนี้ สถาบันฯ จะบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศจัดทำมาตรฐานวิชาชีพ อาทิ มาตรฐานอาชีพผู้ฝึกอบรมในสถานประกอบการร่วมกับสภาอุตสาหกรรม การจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาคี มาตรฐานอาชีพผู้สอนภาษาอังกฤษร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ มาตรฐานอาชีพผู้สอนแมคคาทรอนิกส์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและเยอรมนี รวมถึงครูเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับสถาบันการศึกษาไทยและออสเตรเลีย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนจบการศึกษาอย่างความภาคภูมิ และเป็นที่น่าเชื่อถือในสังคม”
การลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของการยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ไม่อาจเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือภาคประชาสังคม โดยการลงนามฯ ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญต่อวงการอาชีวศึกษาเป็นอย่างมาก โดยทุกภาคส่วนจะร่วมกันขับเคลื่อนอย่างจริงจังเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยมีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้น 2 ปี และเมื่อครบ 2 ปีแรกแล้ว ทุกฝ่ายจะมาประเมินผลการทำงานและพิจารณาทบทวนร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่าภารกิจเพื่อชาตินี้ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอีกมากเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ทุกฝ่ายได้ยึดถือร่วมกันเป็นพันธสัญญาในวันนี้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น