กระทรวงวิทย์ฯ ระดมสุดยอดเทคโนโลยี เครื่องจักรกล สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
22 พฤศจิกายน 2558 - อิมแพ็ค เมืองทองธานี /กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โชว์ผลงานฝีมือคนไทย ระดมสุดยอดเทคโนโลยีเครื่องจักรกล สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม พร้อมสร้างโอกาสการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในโซนเทคโนมาร์ทที่ผู้ประกอบการห้ามพลาด! ภายในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558” ตั้งแต่วันนี้-25 พฤศจิกายน นี้เท่านั้น ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558 ขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 14 ถึง 25 พฤศจิกายน 2558 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม” ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งปีระดับประเทศ และแถบภูมิภาคเอเชีย ที่นอกจากปีนี้จะรวบรวมแสดงผลงานความก้าวหน้าและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ที่ทันสมัย และศักยภาพของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทย โดยการผนึกกำลังร่วมกันของ 9 กระทรวง 7 ประเทศ มากกว่า 100 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมจัดกิจกรรมแสดงความก้าวหน้าทาง วทน. แล้ว พิเศษปีนี้ยังผนวกรวมงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย หรืองานเทคโนมาร์ทเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” เน้นโชว์ผลงานความก้าวหน้า และศักยภาพฝีมือคนไทย ชูแนวคิดเทคโนโลยีเครื่องจักรกลแบรนด์ไทยก้าวไกลสู่ AEC ระดมสุดยอดเทคโนโลยี เครื่องจักรกล สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของคนไทย เพื่อสนับสนุนธุรกิจ SMEs ขณะเดียวกันยังสร้างโอกาสการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมจัดฝึกอบรมและสาธิตถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างอาชีพ เพื่อส่งเสริมให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์นำไปสู่การพัฒนาประเทศในระยะยาว อีกทั้งเตรียมความพร้อมต้อนรับการแข่งขันการเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียน
รศ.ดร.วีระพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานเทคโนมาร์ทในปีนี้แบ่งพื้นที่การจัดงานออกเป็น 3 โซน โซนแรกเป็นคลินิกเทคโนโลยี นำเสนอนิทรรศการผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถ่ายทอดสู่ชุมชนจากคลินิกเทคโนโลยีต่างๆ ทั่วประเทศ ผ่าน “เรื่องเล่าความสำเร็จ” ของตัวแทนหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาสาสมัครวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศูนย์ประสานงานกระทรวงงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค ได้แก่ เทคโนโลยีการเกษตร การแปรรูปผลผลิตการเกษตร การผลิตสมุนไพร การเลี้ยงสัตว์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี พลังงานทดแทน การจัดการของเสียและเทคโนโลยีอื่นๆ
ผลงานที่น่าสนใจ ได้แก่ โครงการส่งเสริมเลี้ยงโคพันธุ์ โคราชวากิว ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งโควากิวหรือโคพันธุ์โกเบ เป็นที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นโคเนื้อที่มีชื่อเสียงมากของญี่ปุ่น เนื่องจากมีคุณภาพเนื้อดีเยี่ยม มีไขมันแทรกมาก เป็นที่ต้องการของตลาดมาก แต่ประเทศไทยต้องนำเข้าเนื้อคุณภาพสูงจากต่างประเทศปีละประมาณ 2,000 ตัน จึงมีการพัฒนาส่งเสริมให้เกษตรกรไทยหันมาเลี้ยงโคพันธุ์โคราชวากิว เพื่อลดการนำเข้าและให้มีการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงป้อนตลาดความต้องการภายในประเทศอย่างเพียงพอ / เทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หอยนางรม ของคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จ.จันทบุรี เพื่อเพิ่มมูลค่าการแปรรูปหอยนางรมที่ตัวขนาดเล็กและตัวแตกหักจากการแกะ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งปกติจะถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ นำกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นข้าวเกรียบหอยนางรม, น้ำพริกเผาหอยนางรม ช่วยลดการสูญเสียเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ / การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายน้ำจืด หรือสาหร่ายโก ของคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลันราชมงคลล้านนา จ.น่าน เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเดิม โดยการลดการใช้น้ำมันในผลิตภัณฑ์ ทำให้ช่วยลดการเหม็นหืน ยืดอายุผลิตภัณฑ์ และรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง / เทคโนโลยีเครื่องผลิตแป้งสาคู ของคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลันราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่ช่วยพัฒนาให้แป้งสาคูมีคุณภาพดียิ่งขึ้น สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิด เช่น แป้งสาคูใช้สำหรับทำอาหาร แป้งโดว์สำหรับปั้น แป้งพัฟอัดแข็งและแป้งฝุ่น และฟิล์มจากแป้งสาคูใช้สำหรับห่ออาหาร เป็นต้น / เทคโนโลยีผลิตเห็ดอินทรีย์ ของคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่นำผลผลิตเห็ดอินทรีย์จากหมู่บ้านผลิตเห็ดอินทรีย์ บ้านลิพอนหัวหาร-บ่อแร่ มานำเสนอโชว์การเพาะเห็ดแบบครบวงจร การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ด เช่น น้ำเห็ดหูหนู น้ำเห็ด 3 สี ให้ได้ชิมกันภายในงาน / ชมเทคโนโลยีโรงเรือนคัดเลือกแสง บ้านหนองมัง หมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพื้นที่นำร่องของ สวทช. มาจัดแสดง ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยของ MTEC สวทช. ในการนำ “เทคโนโลยีพลาสติกคัดเลือกแสงสำหรับคลุมโรงเรือนเพาะปลูก” ช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ สามารถปลูกผักได้ตลอดทั้งปี เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
โซนที่ 2 เป็นการจัดแสดงโชว์สุดยอดผลงานรางวัลเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลยอดเยี่ยม รวมทั้งรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2558 ที่เพิ่งได้รับรางวัลจาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อช่วงพิธีเปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ วันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผลงานที่น่าสนใจ อาทิ เครื่องทำน้ำแข็งเกล็ดดรัมหมุน (Scale Ice Maker) เจ้าของผลงานคือ บริษัท พัฒน์กล จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ สาขาพลังงาน สิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิต และรางวัลสุดยอดเทคโนโลยีแห่งปี (Best of The Best Technology Award) จุดเด่นของผลงาน คือ ใช้สารทำความเย็น R407F ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, Drum หมุนเป็น Stainless Steel เหมาะกับงานอาหาร มีความทนทาน มีอายุการใช้งานนาน น้ำแข็งที่ได้มี Surface Area มาก ทำให้ถ่ายเทอุณหภูมิให้ผลิตภัณฑ์ได้ดี น้ำแข็งเกล็ดมีลักษณะร่วน-กรอบ ช่วยลดปัญหาการช้ำของผลิตภัณฑ์ / เครื่องชั่งน้ำหนักสำหรับไก่พันุ์และไก่เนื้อ รางวัลชนะเลิศ สาขาการเกษตรและเกษตรแปรรูป ของบริษัท อกรินโนเวท จำกัด จุดเด่นของผลงาน คือ ลดการใช้แรงงานคน ลดการบาดเจ็บของสัตว์ ลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน ลดขั้นตอนการทำงานและความผิดพลาดในการเก็บข้อมูลด้วยคน เก็บบันทึกข้อมูลน้ำหนักโดยอัตโนมัติ และเก็บข้อมูลด้วย USB ง่ายต่อการนำไปวิเคราะห์ / เครื่องทดสอบฟังก์ชั่นการทำงานของชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน รางวัลชนะเลิศ สาขาการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ของบริษัท เซ็นเซอร์นิกส์ จำกัด จุดเด่นของผลงาน คือ เป็นเครื่องจักรอัตโนมัติสำหรับการตรวจวัดฟังก์ชั่นการทำงาน โดยใช้หลักการการตรวจจับด้วยระบบอิมเมจโปรเซสซิ่ง สามารถทำงานร่วมกับแขนกลบนสายพานลำเลียงอัตโนมัติได้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก ของบริษัท เทอร์ม เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สาขาพลังงาน สิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิต จุดเด่นของผลงานคือ เป็นเครื่องผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก ที่เกิดจากการหลอมละลายพลาสติกด้วยความร้อนประมาณ 420 องศาเซลเซียส ให้กลายเป็นของเหลวและเปลี่ยนสภาพเป็นแก๊สในถังปฏิกรณ์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน ผ่านกระบวนการจนกลายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในที่สุด สามารถนำน้ำมันไปใช้เป็นเชื้อเพลิงของเครื่องให้ความร้อน (หัวเผา) โดยตรง หรือนำไปเป็นน้ำมันพื้นฐานเพื่อเข้าสู่กระบวนการกลั่นโดยโรงกลั่น ปตท. และบางจาก
โซนที่ 3 เป็นส่วนของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค(สอว.) หรือ Science Park Promotion Agency : SPAเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์จากการวิจัยพัฒนาที่มีศักยภาพทางธุรกิจและการตลาด รวมถึงการแสดงความพร้อมในการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (Northern Science Park), อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (North Eastern Science Park) และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (Southern Science Park) ผ่านนโยบาย 5 แผนงานหลัก ได้แก่ 1. การพัฒนาบริการอุทยานวิทยาศาสตร์ ผ่านกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการเพื่อให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม, การให้เอกชนเช่าพื้นที่เพื่อทำวิจัย, การให้บริการด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาแก่ภาคอุตสาหกรรม, การให้บริการออกแบบนวัตกรรม, การให้บริการและช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร และฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2. การบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3.การพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยี และวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ 4. การวิจัยร่วมกับภาคเอกชน และ 5. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยผู้เข้าชมจะได้ชมและเลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์จากผลงานการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของมหาวิทยาลัยที่เป็นแม่ข่ายในการดำเนินการบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์แต่ละภูมิภาค อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มีดังนี้ อาหารและเครื่องดื่มบำรุงน้ำนมแม่จากดอกกล้วยสกัด, Hybrid Fish Sausage ในบูธของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่, ห้องรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ กับผลลำใยสดด้วยระบบบังคับอากาศแนวตั้ง ของบริษัท กลบ์-กฤษณ์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, ชิมลูกเดือยอบกรอบ, ข้าวอบกรอบ, สบู่สมุนไพรสครับจากข้างลัญพืช, ทดลองดื่มด่ำชาสวรรค์บนดินและชาอบกรอบ ในบูธมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง/ผลงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ไมโครอิมัลชั่นยาบรรเทาปวดและอักเสบจากน้ำมันไพรและสารสกัดจากพริก, ผลิตภัณฑ์ไมโครอิมัลชั่นสำหรับกระชับสัดส่วน, เซรั่มลดริ้วรอยเหี่ยวย่น No.2, สบู่อะลาตัส สารสกัดจากยางนา และปลาร้าผง-ปลาร้าก้อน ในบูธมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ทดลองชิมชาลำใยอินทรีย์ / ผลงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดยางพารา POS, แผ่นมาส์กหน้า ขอบตา และวัสดุปิดบาดแผล Nanocellulose จากปลายข้าว, เห็ดยิ้ม ลูกชิ้นเห็ดเพื่อสุขภาพ, กาแฟผสมน้ำตาลตโหนดสำเร็จรูป ในบูธมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นต้น
ขอเชิญชวนผู้ประกอบการและผู้สนใจร่วมชื่นชมผลงานสุดยอดเทคโนโลยี เครื่องจักรกล สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมฝีมือคนไทย พร้อมเปิดโอกาสการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ภายในโซน “เทคโนมาร์ท” ภายในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558”ตั้งแต่วันนี้-25 พฤศจิกายน 2558 เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center โทร.1313, www.most.go.th หรือ 02 577 9960
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น